In Focus“โดนัลด์ ทรัมป์"กับบททดสอบในการกอบกู้วิกฤตศรัทธา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 29, 2017 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าน้ำเหลวในการผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับ “อเมริกันเฮลธ์แคร์" ให้ผ่านความเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ถูกมองว่าเป็นความเพลี่ยงพล้ำในสภานิติบัญญัติครั้งแรกของทรัมป์ ซึ่งได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนลงเป็นอย่างมาก และส่งผลให้ทรัมป์ต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาครั้งหนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปลายเดือนม.ค.เป็นต้นมา

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ จะแสดงให้เห็นว่าเขาไม่แยแสต่อข้อครหาหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆของสื่อมวลชนหรือนักการเมือง แต่ความล้มเหลวล่าสุดของทรัมป์ในการผ่านร่างกฎหมายที่เปรียบเสมือนนโยบายเรือธงของเขาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาต้องหันกลับมาทบทวนการดำเนินนโยบายต่างๆเสียใหม่ รวมไปถึงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กลับคืนมาด้วย

วิกฤตความน่าเชื่อถือ

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการถอนร่างกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์ออกจากการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทรัมป์ได้เผชิญกับวิกฤตความน่าเชื่อถือที่ดำดิ่งลง จากผลพวงที่เขาไปกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่า อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้สั่งให้ดักฟังการสนทนาภายในตึกทรัมป์ ทาวเวอร์ ซึ่งในเวลาต่อมา ทั้งสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) หรือแม้แต่นายเดวิน นูเนส ส.ส.รีพับลิกันและประธานคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น

โพลล์สำรวจจากมหาวิทยาลัย Quinnipiac ระบุว่า 60% ของผู้ตอบรับแบบสอบถามไม่เชื่อว่าทรัมป์เป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ ขณะที่ชาวอเมริกันที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันจำนวน 39% ไม่เชื่อว่าข้อกล่าวหาของทรัมป์เป็นความจริง

คะแนนนิยมตกต่ำ

นอกเหนือจากระดับความน่าเชื่อถือที่ดิ่งลงอย่างฮวบฮาบแล้ว คะแนนความนิยมในตัวทรัมป์ซึ่งเป็นมาตรวัดระดับความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผลงานในภาพรวมของทรัมป์ก็ยังลดต่ำลงอีกด้วย

โพลล์สำรวจล่าสุดจากแกลลัพบ่งชี้ว่า คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีทรัมป์ร่วงลงสู่ระดับ 36% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดระดับใหม่ และต่ำกว่าสถิติที่ย่ำแย่ที่สุดของโอบามาที่ 38% ในปี 2554 และ 2557 เสียอีก ทั้งที่ ทรัมป์เพิ่งนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐได้เพียงไม่ถึง 3 เดือนด้วยซ้ำ

แรงศรัทธาจากคนในพรรค

นักวิชาการมองว่า นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ส่วนใหญ่ไม่ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพรรครีพับลิกันมากนัก แต่จะสะท้อนมุมมองในระดับปัจเจกบุคคลของทรัมป์เองเสียมากกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพรรคมากเท่าที่ควร และจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับทรัมป์ในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับอื่นๆด้วย รวมไปถึงร่างแผนงบประมาณของรัฐบาลที่ทรัมป์ได้ปรับลดงบฯสำหรับกระทรวงและหน่วยงานรัฐต่างๆ และหันไปอัดฉีดให้กับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแทน

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มสั่นคลอน

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดหุ้นสหรัฐภายหลังจากที่พรรครีพับลิกันได้ถอนร่างกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์ออกจากการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อทรัมป์นั้นเริ่มถดถอยลง โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบติดต่อกันสองวันทำการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์ออกมาเตือนด้วยว่า เทรนด์ขาขึ้นของตลาดจากแรงหนุนของนักลงทุนที่ขานรับนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ หรือที่เรียกว่า “Trump Rally" นั้น กำลังจะสิ้นมนต์ขลังลง หากทรัมป์ยังไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นชิ้นเป็นอันได้

ขณะที่ค่าเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสุขภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับ 110.420 เยนที่ตลาดปริวรรตเงินตราโตเกียวในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. ปีที่แล้ว ขณะที่ค่าเงินยูโรทะยานขึ้น 0.45% สู่ระดับ 1.0847 ดอลลาร์ในตลาดเงินนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.

นักวิเคราะห์มองว่า ช่วงฮันนีมูนของทรัมป์ได้สิ้นสุดไปแล้ว โดยในเวลานี้นักลงทุนจะหันมารอดูผลงานที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเชื่อลมปากที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มฝันหวานของทรัมป์อีกต่อไป และจากการที่ร่างกฎหมายฉบับแรกของรัฐบาลทรัมป์ได้หยุดชะงักลง ทำให้นักลงทุนเกิดความกังขาว่า ทรัมป์จะสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในเรื่องของการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงินอันเข้มงวด การปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคให้ผ่านความเห็นชอบในสภาคองเกรสอย่างราบรื่นได้หรือไม่ ในเมื่อเขาไม่ยังสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากคนในพรรครีพับลิกันให้เป็นปึกแผ่นได้ นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่า ประธานาธิบดีทรัมป์และสมาชิกพรรคแนวอนุรักษ์นิยมอย่างกลุ่มฟรีดอมคอคัสในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันอยู่มาก

คุณชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ แห่งบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ว่า การคว่ำร่างกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์ได้สร้างความวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆของทรัมป์หลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม คุณชัยยศ มองว่า โครงการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายปรับลดภาษีนั้น มีความแตกต่างจากกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์อยู่มาก เนื่องจากร่างกฎหมายประกันสุขภาพของทรัมป์มีบทบัญญติหลายข้อที่ถอดแบบมาจากกฎหมายประกันสุขภาพฉบับ “โอบามาแคร์" ของรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้น ส.ส.รีพับลิกันแนวขวาจัดจึงไม่ให้การสนับสนุน แต่สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รีพับลิกันมองว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวอเมริกันมากกว่า ซึ่งจะทำให้สองฝ่ายสามารถตกลงประนีประนอมกันได้ง่ายขึ้น และเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ทรัมป์จะสามารถเดินหน้าผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้สำเร็จลุล่วงได้

บททดสอบในการกอบกู้วิกฤตศรัทธา

ในช่วง 2 เดือนแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งทำเนียบขาวนั้น เขาได้เผชิญกับอุปสรรคในการบริหารงานอย่างไม่หยุดหย่อน รวมไปถึงการเผชิญบททดสอบเรื่องขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีซึ่งถูกท้าทายโดยฝ่ายตุลาการ เมื่อศาลสหรัฐได้สั่งยับยั้งมาตรการกีดกันผู้อพยพและพลเมืองชาติมุสลิมของทรัมป์ เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในเวลานี้ ทรัมป์ถูกทดสอบอีกครั้งในสภานิติบัญญัติ แม้ว่ารีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทรัมป์ยังไม่สามารถสร้างความเป็นเอกภาพภายในพรรคได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอันดับแรกของทรัมป์ในการกอบกู้วิกฤตศรัทธาและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้สนับสนุนให้กลับคืนมาอย่างเร่งด่วน

ส่วนการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้น นักวิเคราะห์มองว่า นโยบายปรับลดภาษีและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจเป็นหมากที่สามารถพลิกเกมให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ได้ หากทรัมป์สามารถแก้ตัวด้วยการผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงได้โดยเร็ว

ขณะที่ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำสาขาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการสมาคมวิจัยสันติภาพเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Peace Research Association) ได้ให้ทัศนะกับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ว่า ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านความเชื่อมั่นที่กำลังดำเนินอยู่นี้ รัฐบาลของทรัมป์มีเวลาในการพิสูจน์ผลงานด้านเศรษฐกิจไปจนถึงการเลือกตั้งกลางสมัยในเดือนพ.ย.ปีหน้านี้ โดยหากพรรคเดโมแครตสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็อาจบ่งบอกได้ว่า รัฐบาลของทรัมป์สอบตกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่หากรีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากได้ ก็อาจมองได้ว่า วิกฤตความเชื่อมั่นที่เป็นอยู่ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อฐานเสียงของทรัมป์ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางผิวขาว อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขายังคงสนับสนุนจุดยืนของทรัมป์ในการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องตกงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ