In Focusจับตา "ทรัมป์" ลั่นกลองรบ พร้อมสยบเกาหลีเหนือ เมื่อประธานาธิบดีคนนี้ "ไม่ได้ดีแต่พูด"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 19, 2017 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่ที่ชื่อของ “โดนัลด์ ทรัมป์" ถูกจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันใดเลยที่ชื่อของเขาจะหายห่างไปจากพื้นที่สื่อ เพราะนอกจากสหรัฐจะเป็นชาติมหาอำนาจที่ทุกคนต่างจับตามองแล้ว ลีลาความบู๊ทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศชนิด "ไม่แคร์สื่อ" ของนายทรัมป์ ก็ล้วนแต่สร้างประเด็นเขย่าโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้งภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อจู่ๆ กองทัพสหรัฐก็สั่งเคลื่อนกองเรือรบประชิดน่านน้ำเกาหลีเหนือ แถมยังทำสั่งการโจมตีฐานทัพซีเรียเพื่อ “เชือดไก่ให้ลิงดู" พร้อมทิ้งระเบิดที่ได้รับสมญานามว่า “แม่ทุกสถาบัน" ถล่มฐานที่มั่นของกลุ่ม IS ในอัฟกานิสถานอีกด้วย จนทำให้มีคำถามผุดขึ้นมากมายว่า ทำไมจู่ๆสหรัฐถึงรุกแสดงแสนยานุภาพข่มขวัญเกาหลีเหนือ? ทรัมป์จะเป็นคนที่ฟ้าส่งมาจัดการกับคิม จอง อึน ได้จริงหรือไม่? ชาติพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้จะทำอย่างไรเมื่อไร้ประธานาธิบดีท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้? และทำไมประเทศที่เย่อหยิ่งอย่างสหรัฐถึงต้องยอมง้อคู่ปรับตลอดกาลอย่าง "จีน" ให้เข้าร่วมวงด้วย?

  • มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

เกาหลีเหนือได้เดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่หยุดยั้งมาตลอดหลายสิบปี โดยไม่สนคำทัดทานหรือการรุมประณามจากประชาคมโลก ถึงขั้นที่แม้แต่มาตรการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ โดยเป้าหมายของเกาหลีเหนือในตอนนี้ คือ การพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะยิงไปได้ไกลถึงกลุ่มประเทศเป้าหมายทั่วโลก... ซึ่งรวมถึงสหรัฐ

จนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ก็ได้เปิดฉาก “รับขวัญ" ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ด้วยการประกาศความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในช่วงปลายเดือนมกราคม โดยขีปนาวุธดังกล่าวได้เคลื่อนที่ในอากาศรวมระยะทางประมาณ 500 กม. ก่อนที่จะตกลงยังน่านน้ำทะเลญี่ปุ่น บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือ

แน่นอนว่า ประธานาธิบดีสายบู๊อย่างทรัมป์ก็ไม่อาจทนการยั่วยุจากโสมแดงได้ ส่งผลในท้ายที่สุด พลเรือเอกแฮร์รี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิก ก็ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนให้เคลื่อนกองเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วินสัน และฝูงเรือรบของสหรัฐมุ่งหน้าไปยังคาบสมุทรเกาหลี เพื่อเป็นการตอบโต้การทดสอบขีปนาวุธของโสมแดง และนี่คือจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดเหนือคาบสมุทรเกาหลี ที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เปิดฉากส่งสาส์นให้เกาหลีเหนือได้รับรู้ถึงแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของกองทัพเรือสหรัฐที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก… ด้วยตนเอง

  • เมื่อทรัมป์เปิดเกม “เชือดอัสซาดให้คิมดู"

ก่อนหน้าที่สหรัฐจะเคลื่อนกองเรือรบเข้าประชิดคาบสมุทรเกาหลีเพียงไม่กี่วันนั้น ก็มีข่าวใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อนายทรัมป์ได้ออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์คกว่า 60 ลูกถล่มฐานทัพอากาศ Shayrat ของซีเรีย เพื่อตอบโต้นายบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ที่ใช้อาวุธเคมีร้ายแรงปราบปรามกลุ่มกบฎในจังหวังอิดลิบทางตะวันตกเฉียงเหนือ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนในซีเรียเสียชีวิตไปกว่า 70 รายด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เป็นข่าวใหญ่คึกโครมขนาดนี้ หากนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐเลือกกระโจนลงสนามรบด้วยตัวเอง หลังจากที่ปล่อยให้สงครามกลางเมืองซีเรียเรื้อรังมานานหลายปี และหากคำสั่งยิงแบบสายฟ้าแลบครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศยิงขีปนาวุธเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่สิ่งที่พลิกความคาดหมายชนิดหักปากกาเซียนมากที่สุด เห็นจะเป็นการที่นายทรัมป์เลือกออกคำสั่งยิงถล่มซีเรีย ภายใต้บรรยากาศการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแห่งจีน ที่เดินทางมาพบปะกันเป็นครั้งแรกได้อย่างหน้าตาเฉย

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นักวิเคราะห์หลายรายได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คำสั่งยิงของทรัมป์ไม่ได้มีขึ้นแค่เพื่อเป็นการลงโทษซีเรียเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นการส่งสาส์นไปยังเกาหลีเหนือว่า "เมื่อผมขู่อะไรไว้ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ" อันเป็นการชี้ให้เห็นว่า สหรัฐไม่เคยกลัวการข่มขู่และพร้อมจะเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือทุกเวลาหากจำเป็น อีกทั้งการที่นายทรัมป์ไม่ลังเลที่จะสั่งยิงฐานทัพในซีเรีย ขณะที่ตนเองกำลังประชุมอยู่กับสี จิ้นผิง ที่รัฐฟลอลิด้านั้น ก็ยังถือเป็นการส่งข้อความบางอย่างไปยังจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่เพียงไม่กี่ชาติของเกาหลีเหนือ โดยก่อนหน้านี้ นายทรัมป์เคยได้ลั่นวาจาเอาไว้ว่า สหรัฐจะเข้าจัดการเกาหลีเหนือตามลำพัง หากจีนไม่ยอมให้การช่วยเหลือ

"เกาหลีเหนือกำลังวอนหาเรื่อง ถ้าจีนตัดสินใจให้ความช่วยเหลือสหรัฐก็จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่เราก็พร้อมจะแก้ไขปัญหานี้เองโดยไม่ต้องให้จีนช่วย!" ผู้นำสหรัฐกล่าว
  • ไม่ต้องให้จีนช่วยก็ได้… จริงหรือ?

แม้ทรัมป์จะบอกนานาชาติอย่างมั่นใจว่า สหรัฐมีศักยภาพมากพอที่จะจัดการกับเกาหลีเหนือเพียงลำพัง แต่จะเป็นเช่นนั้น... จริงหรือ?

แม้เป็นที่รู้กันดีว่ากองทัพสหรัฐมีความแข็งแกร่งและพรั่งพร้อมมากเพียงใด แต่การใช้ปฏิบัติการทางการทหารโจมตีเกาหลีเหนือโดยตรงอาจเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะสร้างความตึงเครียดเหนือคาบสมุทรเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังอาจส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายอีกนับไม่ถ้วน สหรัฐเองก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี จึงเลือกใช้วิธีกดดันเกาหลีเหนือแบบอ้อมๆมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือใช้วิธีทางการทูตเพื่อคลี่คลายความตึงเครียด โดยหวังที่จะให้เกาหลีเหนือยอมยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน

แต่เมื่อเกาหลีเหนือยังคงยืนกรานว่า "ฉันไม่แคร์" และทดสอบยิงขีปนาวุธไปแล้วถึง 5 ครั้งด้วยกันในปีนี้ สหรัฐจึงจำเป็นต้องปรับยุทธการใหม่ โดยดึงพี่ใหญ่อย่าง "จีน" ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเกาหลีเหนือมาช่วยกดดันด้วยอีกแรง เนื่องจากสหรัฐมองว่า หากรัฐบาลจีนยอมตัดท่อน้ำเลี้ยงโสมแดง อาทิ การปิดธนาคารที่เป็นแหล่งฟอกเงินของเกาหลีเหนือ หรือหยุดส่งออกน้ำมันให้กับเกาหลีเหนือ ก็อาจทำให้โสมแดงเสียท่าให้กับเกมนี้ได้เหมือนกัน ซึ่งเราก็ต้องดูกันต่อไปว่า อดีตนักธุรกิจใหญ่อย่างทรัมป์ที่น่าจะรู้จักกฎการ "ยื่นหมูยื่นแมว" ดีกว่าใคร จะเลือกใช้ข้อตกลงที่สมน้ำสมเนื้อมากเพียงไร เพื่อหว่านล้อมให้จีนยอมลงสนามด้วย

  • แล้วจีนจะยอมร่วมมือหรือไม่?

จีนเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรเก่าแก่ของเกาหลีเหนือ ที่ระยะหลังๆก็เริ่มออกอาการ "เอือม" พฤติกรรมของโสมแดงที่ทำการยั่วยุนานาชาติอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศระงับการนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือตลอดปี 2560 ตามข้อมติคว่ำบาตรของ UNSC ที่พุ่งเป้าการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมถ่านหินของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก และส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน

อย่างไรก็ตาม ความหวังของสหรัฐที่อยากให้จีนเข้ามาร่วมขบวนการในครั้งนี้ยังคงดูเลือนลาง เพราะจีนเองก็ไม่อาจตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือได้ง่ายๆ เนื่องจากจีนมองว่า เกาหลีเหนือคือรัฐกันชนที่ยังสามารถเก็บไว้ใช้ต่อรองกับชาติมหาอำนาจอื่นๆได้ อีกทั้งการล่มสลายของเกาหลีเหนือก็ไม่ส่งผลดีกับจีนในแง่ที่ว่า ประเทศเกาหลีอาจกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยที่สหรัฐเองก็มีฐานทัพขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศ

นอกจากจีนยังมีความวิตกกังวลว่า หากเกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นมาจริงๆ ชาวเกาหลีเหนือหลายล้านคนอาจไหลทะลักข้ามพรมแดนมาสู่จีน ซึ่งนั่นอาจทำให้จีนต้องเดือดร้อนรับภาระอันหนักอึ้งโดยไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ จีนจึงพยายามกระตุ้นให้สหรัฐแก้ไขปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีด้วยสันติวิธี และออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำอันยั่วยุ ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามจนไม่อาจควบคุมได้

  • เกาหลีใต้... ในวันไร้ประธานาธิบดี

แม้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้จะไม่ได้มีบทบาทอะไรในเรื่องนี้มากนัก แต่หลายฝ่ายก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า เมื่อประเทศที่มีความบาดหมางกับเกาหลีเหนือมาอย่างยาวนานต้องตกอยู่ในสภาวะ "ไร้ผู้นำ" เช่นนี้ โสมขาวจะยังคงแข็งแกร่งพอที่จะต่อกรกับคิม จอง อึน หรือไม่

ทุกคนคงจำได้ดีกับเหตุการณ์สุดอื้อฉาวของปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกแห่งแดนโสมขาว ที่ถูกเด้งออกจากเก้าอี้ประธานาธิบดี หลังจากที่ปล่อยให้นางชเว ชุน ซิล เพื่อนสนิท เข้ามามีบทบาทในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งที่เธอไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล อีกทั้งยังได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อ ปาร์ค กึน เฮ เรียกรับผลประโยชน์ และบีบให้บริษัทใหญ่ๆ บริจาคเงินจำนวนมหาศาลเข้ามูลนิธิไม่แสวงกำไรของตนเองอีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้จะเป็นใคร? และเขาหรือเธอจะใช้นโยบายรูปแบบใดในการจัดการกับเกาหลีเหนือ?

สำหรับบุคคลที่เป็นตัวเต็งในศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในงวดนี้ โพลทุกสำนักชี้ตรงกันว่า นายมูน แจ อิน จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (DPK) ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมินจู หรือพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ คือผู้ที่มาวินในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า หากนายมูนสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้จริง เกาหลีใต้อาจเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับมือกับเกาหลีเหนือมาเป็นแบบ "ซอฟต์ๆ" เพราะนักการเมืองฝ่ายซ้ายผู้นี้ มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้วิธีการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือแทน แตกต่างจากในสมัยของนางปาร์คที่เลือกใช้ "ไม้แข็ง" ในการต่อสู้กับโสมแดง แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ที่คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีไปครองได้สำเร็จ ก็ล้วนแต่ต้องเดินเกมนี้ด้วยความละเอียดรอบคอบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะต้องอย่าลืมว่า ในสมัยนึงเกาหลีใต้ก็เคยเลือกใช้นโยบายตะวันทอแสง (Sunshine Policy) ซึ่งเน้นการให้ความร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ เพราะในขณะที่เกาหลีใต้หยิบยื่นไมตรีจิตให้... เกาหลีเหนือก็ไม่เคยรับปากที่จะหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วมวยคู่นี้... จะจบลงเช่นไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ