In Focusจับตา "ฮ่องกง" ฉลองครบรอบ 20 ปีประกาศเอกราช ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองกับแผ่นดินใหญ่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 28, 2017 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำหรับเรื่องราวความเคลื่อนไหวอันเป็นที่จับตามองทั่วโลกในช่วงสัปดาห์นี้คงหนี้ไม่พ้นฮ่องกง ซึ่งเตรียมฉลองครบรอบ 20 ปีแห่งการส่งมอบคืนหมู่เกาะฮ่องกงให้กับจีนวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 2 ทศวรรษนี้มีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปีทั่วโลก ทั้งการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ฮ่องกง

ทว่าท่ามกลางบรรยากาศที่ดูแล้วน่ายินดีนั้น ยังคงมีคลื่นใต้น้ำซ่อนอยู่ นั่นคือปัญหาทางการเมืองกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยืดเยื้อมาตลอด 20 ปีเดียวกันนี้ ซึ่งทำให้มีชาวฮ่องกงบางกลุ่มออกมาปิดถนนเดินประท้วง จนกลายเป็นข่าวระดับโลกในช่วงไม่กี่ปีมา “In Focus" สัปดาห์นี้ขอย้อนรอยประวัติศาสตร์ฮ่องกงหลังได้รับเอกราช ก่อนที่ฮ่องกงจะเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในวันเสาร์นี้

*นับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ในยามพ้นอิทธิพลอังกฤษ

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือในปี 2540 อังกฤษได้คืนฮ่องกงให้กับจีนอย่างเป็นทางการ ปิดฉากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่มีขึ้นยาวนานนับศตวรรษ หลังจากที่ฮ่องกงถูกยกให้แก่อังกฤษในยุคสงครามฝิ่น โดยพื้นที่บางส่วนยกให้อังกฤษปกครอง ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่อังกฤษได้ทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 99 ปี

ขณะที่สัญญาเช่ากำลังจะหมดนั้น รัฐบาลอังกฤษได้มีการเจรจากับรัฐบาลจีน ฝั่งอังกฤษได้เสนอขออำนาจบริหารเหมือนเดิม แต่จะมอบอำนาจอธิปไตยให้กับจีน อย่างไรก็ดี ทางการจีนได้ปฏิเสธมาตลอดเนื่องจากจีนต้องการอำนาจปกครองอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้อังกฤษจำต้องยอมคืนฮ่องกงให้กับจีน ณ วันที่ 1 ก.ค. 2540 โดยมีเจ้าชายชาลส์ และนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยนั้น เป็นผู้เข้าร่วมพิธีมอบฮ่องกงคืนสู่จีน ซึ่งทำให้เจ้าชายชาลส์ทรงเสียพระทัยอย่างยิ่ง ในขณะที่ฝั่งจีน นายเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีจีนสมัยนั้น ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสนี้ท่ามกลางเสียงยินดีจากทั่วทุกสารทิศ และมีทหารเดินสวนสนามทั่วบริเวณ

นับตั้งแต่นั้น ฮ่องกงก็มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดตลอดระยะเวลา 20 ปีที่จีนปกครอง จีนได้ผนวกรวมฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ทั้งในแง่การปกครอง โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และเศรษฐกิจ เสมือนเป็นประเทศเดียวกัน ฮ่องกงได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย และเป็นประตูสู่มหาอำนาจอย่างจีน ทว่าในความเจริญรุ่งเรืองนี้ ชาวฮ่องกงได้แบ่งแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนจีน และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องการให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองด้วยตนเอง ไม่อยู่ในอิทธิพลทางการเมืองจากจีน

*นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ" สัญญาที่ไม่เป็นสัญญา

เมื่อจีนได้รับฮ่องกงคืนจากอังกฤษแล้ว ก็สร้างความเชื่อมั่นว่า ฮ่องกงจะถูกปกครองภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ" เป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2590 นโยบายนี้ระบุไว้ว่า ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนในแง่ของระบบการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ การเงิน และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในลักษณะทุนนิยม โดยมีกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญฉบับย่อยของฮ่องกง

อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลจีนเริ่มใช้อำนาจกับฮ่องกงมากขึ้น จนทำให้ไม่กี่ปีมานี้ ประชาชนชาวฮ่องกงเรือนหมื่นได้รวมตัวกัน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ตามท้องถนน ย่านการค้า และย่านธุรกิจสำคัญๆที่มักเห็นผ่านตาตามสื่อต่างๆ ผู้ชุมนุมเหล่านี้บ้างมาด้วยความโกรธเกรี้ยว บ้างมาด้วยความผิดหวังและเรียกร้องหาสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ขณะที่รัฐบาลจีนยังคงปิดหูปิดตาประชาชน พร้อมออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งหมด

เมื่อปี 2557 ผู้ประท้วงซึ่งประกอบไปด้วยสมาพันธ์นักศึกษาและกลุ่ม “ยึดครองเซนทรัลด้วยความรักและสันติภาพ" (Occupy Central With Love and Peace) เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนได้ผิดสัญญาในการบริหารจัดการฮ่องกงภายใต้แนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบบ ตามที่ได้ตกลงไว้เมื่ออังกฤษได้ส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่รัฐบาลจีน ซึ่งได้ให้คำมั่นว่า จีนจะจัดการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดให้กับฮ่องกงในปี 2560 แต่สุดท้ายกลับพ่วงข้อกำหนดที่ว่า ผู้สมัครเลือกตั้งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากจีนเสียก่อน การผิดสัญญาครั้งนี้ส่งผลให้ชาวฮ่องกงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก สมาชิกร่วมอุดมการณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามหลักสากลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวฮ่องกงยุคใหม่ที่แสวงหาประชาธิปไตยและการปฏิรูปรัฐบาล อันเป็นหัวข้อที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้มีการพูดถึง

*เฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี พ่วงผู้นำฮ่องกงคนใหม่

พิธีเฉลิมฉลองเอกราชของฮ่องกงในปีนี้ นอกจากจะเป็นการฉลองครบรอบ 2 ทศวรรษแล้ว ยังจะเป็นการเปิดเก้าอี้ให้ผู้นำคนใหม่ของฮ่องกงเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการด้วย หลังจากที่คว้าชัยเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยนางแคร์รี แลม วัย 59 ปี อดีตหัวหน้าเลขาธิการฝ่ายบริหารฮ่องกง ชนะการเลือกตั้งผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จ่อนั่งเก้าอี้ผู้นำหญิงคนแรกของฮ่องกง ผลการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่าย เนื่องจากนางแคร์รี่ แลม มีรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ประชาชนชาวฮ่องกงสนับสนุนนายเจิง จวิ้นหวา อดีตรัฐมนตรีคลัง นอกจากนี้ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน ยังเตรียมเดินทางเยือนฮ่องกงเพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองนี้ด้วย โดยเป็นการเดินทางเยือนครั้งแรกของนายสีนับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำจีน

ด้วยความสำคัญของพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ ไม่ว่าจะการเฉลิมฉลองเอกราช ประกาศจากผู้นำคนใหม่ของฮ่องกง และการปรากฎตัวของประธานาธิบดีจีน ที่ดูแล้วน่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในฮ่องกงเป็นแน่ ทางการฮ่องกงจึงได้ดำเนินการเตรียมการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรับมือกับความโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมประท้วงของประชาชน ทั้งด้วยการยิงสเปรย์พริกไทยและกระสุนยาง และล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่เพิ่งผ่านมานี้ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวรายอื่นๆ ได้พยายามนำผ้าสีดำขึ้นไปคลุมที่รูปปั้นดอกบัวทองคำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อประท้วงการแทรกแซงของรัฐบาลกลางในฮ่องกง ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะเดินทางเยือนฮ่องกง

*กระแสตอบรับของชาวฮ่องกง กับอีก 30 ปีภายใต้การปกครองของจีน

เมื่อเทียบกับเสียงเฮฮาเมื่อได้รับเอกราชเมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว ทุกวันนี้ชาวฮ่องกงรู้สึกตื่นตัวลดลงกว่าครั้งนั้น ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่เชื่อว่าในอนาคตฮ่องกงก็จะยังคงเป็นเหมือนเดิม อยู่ใต้อิทธิพลจีนเหมือนเดิม ผู้นำคนใหม่ๆก็จะยังคงมาจากการคัดเลือกของจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนเดิม แม้ตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ชาวฮ่องกงก็เริ่มออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านรัฐบาลจีน ทว่าก็ยังดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขณะที่คุณภาพชีวิตก็ตกต่ำลงเรื่อยๆในสายตาของชาวฮ่องกง ทั้งในเรื่องของราคาบ้าน การศึกษา และค่าจ้าง

*คำเตือนจากจีนแผ่นดินใหญ่

เมื่อเดือนที่ผ่านมา นายจาง เต้อเจียง ผู้นำอันดับ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ได้ออกมาเตือนฮ่องกงไม่ให้ท้าทายอำนาจในการปกครองของจีน พร้อมเน้นย้ำว่าจีนแผ่นดินใหญ่มีอำนาจในการเลือกผู้นำฮ่องกง รวมถึงการแต่งตั้งหรือปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง และรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ฮ่องกงแยกอำนาจเหล่านี้ออกไป

นายจาง เต้อเจียง ได้อ้างถึงมาตรา 23 ตามข้อกฎหมายพื้นฐาน ซึ่งมีเนื้อความว่ารัฐบาลจีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกง และการที่ประชาชนชาวฮ่องกงออกมาเรียกร้องให้มีการแยกฮ่องกงออกจากอิทธิพลของจีนนั้นเป็นความพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามอำนาจอธิปไตยนี้ ซึ่งจีนไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ และควรได้รับการจัดการตามข้อกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ นายหวัง เจิ้นหมิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฮ่องกง ได้ขู่ว่านโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่นำมาใช้กับฮ่องกงนี้อาจถูกล้มเลิกไป หากฮ่องกงยังคิดที่จะนำประเด็นนี้ต่อกรกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเขากล่าวว่า “หนึ่งประเทศ" มีความสำคัญกว่า “สองระบบ"

*ชาวฮ่องกงเริ่มมองหาประเทศใหม่ “ไต้หวัน" มาเป็นอันดับหนึ่ง

จากบรรยากาศความตึงเครียดทางการเมือง รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วยนั้น ชาวฮ่องกงบางส่วนที่อยู่ในฐานะที่จะย้ายประเทศได้ ก็เริ่มทยอยกันย้ายถิ่นที่อยู่กันบ้างแล้ว โดยผลสำรวจจาก Chinese University of Hong Kong ระบุว่า ชาวฮ่องกงมากถึงสองในห้า หรือประมาณ 40% ต้องการย้ายไปอยู่ประเทศใหม่ แม้ว่ามีเพียง 10% ที่มีการลงมือทำจริง สำหรับประชากรกลุ่มที่ต้องการย้ายมากที่สุดนั้นได้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-30 ปี ส่วนประเทศที่ชาวฮ่องกงต้องการย้ายไปอยู่มากที่สุดนั้นได้แก่ ไต้หวัน ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ และสิงคโปร์ ตามลำดับ ขณะที่ประเทศแถบอาเซียนอย่างมาเลเซียและไทยก็เป็นที่หมายตาเช่นกัน เพราะปัจจุบันออสเตรเลียและแคนาดามีระเบียบเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของการรับผู้อพยพ

*30 ปีที่ไร้ความชัดเจน

นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ" นี้ยังเหลือเวลาอีก 30 ปีก่อนจะหมดอายุ โดยจีนแผ่นดินใหญ่แทบจะไม่ได้ชี้แจงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฮ่องกงจะดำเนินไปในทิศทางใด แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้คือ จีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงใช้อำนาจปกครองฮ่องกงต่อไป และผนวกรวมฮ่องกงให้แน่นแฟ้นกับจีนยิ่งขึ้น ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่นั้นเริ่มมีอำนาจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวทีโลก ซึ่งยากที่มหาอำนาจประเทศอื่นๆจะต่อกรได้

สุดท้ายนี้ In Focus หวังว่า ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ จะสามารถเจรจาและหาทางออกที่น่าพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในฐานะที่ทั้งฮ่องกงและจีนล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญของเศรษฐกิจเอเชียและทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ