In Focusเจาะลึกเฟดปรับลดงบดุล โจทย์ใหญ่รอการพิสูจน์ฝีมือ"เยลเลน"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 2, 2017 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. เฟดได้ประกาศคงนโยบายการเงิน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อดูคร่าวๆ เราอาจจะมองว่าการประชุมครั้งนี้ไม่มีอะไรที่น่าสนใจ โดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ก็ไม่ได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแถลงการณ์หลังการประชุม เฟดได้ส่งสัญญาณที่จะเริ่มปรับลดงบดุลในเดือนก.ย. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

การปรับลดงบดุลถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของเฟดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการปรับนโยบายการเงินของเฟดกลับสู่ภาวะปกติ โดยใน “In Focus" สัปดาห์นี้ เราจะมาเจาะลึกถึงมาตรการดังกล่าว โดยพิจารณาถึงความเป็นมา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดงบดุลของเฟด

*งบดุลของเฟดเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร

ในปี 2008 ตลาดสินเชื่อ และตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐเผชิญภาวะทรุดตัวจากวิกฤตหนี้เน่า ส่งผลให้พันธบัตร และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ MBS ที่ธนาคารต่างๆ และนักลงทุนถือครองอยู่วงเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ กลายเป็นแค่เศษกระดาษที่ไร้ค่า

เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าวในระบบการเงิน เฟดจึงได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS รวม 3 รอบ โดยมาตรการดังกล่าว เรียกว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กำลังดิ่งลงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากที่สุดในรอบหลายสิบปี

การอัดฉีดเงินของเฟดดังกล่าวเปรียบเหมือนกับการที่เฟดโปรยเงินจากฟ้า และทำให้นายเบน เบอร์นันเก้ ซึ่งเป็นประธานเฟดในขณะนั้น ถูกตั้งฉายาว่า “เฮลิคอปเตอร์ เบน"

การเข้าซื้อพันธบัตร, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS ดังกล่าว ส่งผลให้งบดุลของเฟดเพิ่มมากขึ้น โดยเม็ดเงินที่เฟดอัดฉีดเข้าไปในระบบหลังจากเกิดวิกฤตในปี 2008 ถือเป็นวงเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์อายุ 103 ปีของเฟด จนส่งผลให้ล่าสุดงบดุลของเฟดมีวงเงินสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

*ความมหึมาของงบดุลเฟด

หากใครนึกภาพไม่ออกว่างบดุลของเฟดที่มีมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์นั้นเป็นวงเงินที่มากเพียงใด ก็มีคำตอบว่า เงินจำนวนดังกล่าวสามารถซื้อบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐจำนวน 315 แห่งที่รวมอยู่ในดัชนี S&P 500 หรือซื้อบริษัทชั้นนำ 10 แห่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึง อเมซอน แอปเปิล และเอ็กซอน โมบิล

นอกจากนี้ วงเงินดังกล่าวเทียบเท่ากับราว 1 ใน 4 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ

*ผลของการอัดฉีดเม็ดเงินของเฟด

เมื่อเฟดเข้าซื้อพันธบัตร และตราสารหนี้ในตลาด เม็ดเงินจำนวนมากที่เข้าสู่ระบบจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืม หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดต่ำลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยสนับสนุนให้มีการซื้อบ้านในตลาด

หากเฟดอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดจนทำให้เกิดการกู้ยืมมากเกินไป เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะร้อนแรงจนทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และถ้าหากเกิดภาวะดังกล่าว เฟดก็จะทำการขายพันธบัตรออกมา ซึ่งจะช่วยดูดซับเม็ดเงินส่วนเกินในระบบการเงิน และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดีดตัวขึ้น ซึ่งจะลดอัตราเงินเฟ้อ และภาวะร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจ

*เหตุใดเฟดจึงต้องซื้อพันธบัตรในตลาด แทนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยตรง

ตามปกติแล้ว เฟดจะใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rates) ในการกำกับตลาดการเงิน และควบคุมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารต่างๆเรียกเก็บระหว่างกัน หากมีการกู้ยืมเงินช่วงข้ามคืนที่ธนาคารต่างๆดำรงเป็นเงินสำรองไว้กับเฟด

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน เฟดได้หั่นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่ำจนใกล้ระดับ 0% และเนื่องจากเฟดไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำเกิน 0% หรือใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ จึงทำให้เฟดหันไปใช้มาตรการใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งก็คือมาตรการ QE เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดต่ำลง

ที่ผ่านมา มาตรการ QE ให้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยสามารถทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราการว่างงานลดต่ำลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี

*เฟดเผชิญโจทย์ใหญ่ ย้อนมาตรการทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติ

การใช้มาตรการ QE แม้จะเกิดผลดีมหาศาล แต่ก็ถือเป็นมาตรการทางการเงินที่ไม่ปกติ ซึ่งเฟดก็รู้ว่า สักวันหนึ่งเฟดจะต้องปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เฟดจำเป็นจะต้องทำ 2 สิ่งด้วยกัน ซึ่งก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดงบดุล

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เฟดได้เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธ.ค.2015 ก่อนที่จะทำการปรับขึ้นอีก 3 ครั้งๆละ 0.25% ในเดือนธ.ค.2016, เดือนมี.ค.ปีนี้ และครั้งล่าสุดในเดือนมิ.ย.

และขณะนี้ ถึงเวลาที่เฟดจะต้องดำเนินการอีกประการหนึ่งในการปรับลดงบดุลที่ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS รวมวงเงิน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว วงเงิน 3.7 ล้านล้านดอลลาร์มาจากการซื้อพันธบัตรของเฟด 3 รอบในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2007-2009 ซึ่งการปรับลดงบดุลดังกล่าว เรียกว่า มาตรการคุมเข้มเชิงปริมาณ (Quantitative Tightening) หรือ QT

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการ QE ก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีดตัวขึ้น แต่เฟดก็ไม่สามารถแบกรับภาระในการถือครองพันธบัตรจำนวนมหาศาล และตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำได้ตลอดไป เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวจะสนับสนุนให้มีการกู้ยืมเงิน แต่ไม่จูงใจให้มีการออมเงินในระบบ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เม็ดเงินส่วนเกินในระบบจะทำให้เกิดเงินเฟ้อรอบใหม่ โดยจะกระตุ้นภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ ซึ่งผู้ที่คัดค้านการใช้มาตรการ QE ของเฟดก็ได้เตือนว่า มาตรการดังกล่าวกำลังผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสู่ระดับที่ไม่ยั่งยืนในขณะนี้

แต่ถ้าหากเฟดทำการเทขายพันธบัตรที่ถือครองอยู่จำนวน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ออกมาเร็วเกินไป ก็จะมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัวขึ้น

*เฟดเผยแผนขายบอนด์ค่อยเป็นค่อยไป หวั่นฉุดเศรษฐกิจซบเซา

ในการประชุมเดือนมิ.ย. เฟดได้เปิดเผยแผนการปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ ด้วยการทยอยลดการถือครองพันธบัตร และตราสารหนี้ที่เฟดถือครอง โดยการปล่อยให้พันธบัตร และตราสารหนี้ดังกล่าวครบกำหนดอายุ โดยไม่มีการนำเม็ดเงินมาลงทุนซื้อพันธบัตรใหม่

อย่างไรก็ดี การที่เฟดจะขายพันธบัตร และตราสารหนี้จนหมดพอร์ทถือเป็นความคิดที่ไม่เกิดผลดี เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ และระบบการเงินได้มีการขยายตัวนับตั้งแต่ปี 2008 ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีเม็ดเงินในระบบเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ที่ผ่านมา ในช่วงก่อนที่เฟดจะดำเนินการปรับลดงบดุลนั้น หากพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่เฟดถือครองอยู่มีอายุครบกำหนด เฟดก็จะนำเม็ดเงินจากพันธบัตรดังกล่าวกลับมาลงทุนใหม่ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรอีก ซึ่งก็จะส่งผลให้อุปสงค์พันธบัตรในตลาดยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และทำให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ภายใต้นโยบายปรับลดงบดุลของเฟด เฟดจะกำหนดวงเงินพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS ที่เฟดจะปล่อยให้ครบกำหนดอายุโดยไม่มีการนำเม็ดเงินไปลงทุนใหม่ และจะเพิ่มเพดานตามเป้าหมายที่เฟดกำหนด โดยในเบื้องต้น เฟดจะจำกัดเพดานการลดวงเงินการถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่ระดับ 6 พันล้านดอลลาร์/เดือน ก่อนที่จะขยายเพดานการลดการถือครองพันธบัตรอีก 6 พันล้านดอลลาร์ในทุกๆ ไตรมาสในช่วงระยะเวลา 12 เดือน จนกระทั่งแตะระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

สำหรับตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS นั้น ในเบื้องต้นเฟดจะจำกัดเพดานการลดวงเงินการถือครองที่ระดับ 4 พันล้านดอลลาร์/เดือน ก่อนที่จะขยายเพดานการลดการถือครองอีก 4 พันล้านดอลลาร์ในทุกๆ ไตรมาสในช่วงระยะเวลา 12 เดือน จนกระทั่งแตะระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

เมื่อการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จะส่งผลให้เฟดสามารถลดการถือครองสินทรัพย์ทั้ง 3 ประเภทในอัตรา 5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายคาดหวังว่าการลดการถือครองสินทรัพย์ดังกล่าวจะดำเนินไปจนกระทั่งงบดุลของเฟดลดลงสู่ระดับ 2.0-2.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

*เฟดส่งสัญญาณเริ่มทยอยปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนก.ย.

ในแถลงการณ์ของเฟดหลังการประชุมในวันที่ 26 ก.ค. เฟดระบุว่า "ทางคณะกรรมการคาดหวังว่าจะเริ่มทำการปรับงบดุลเข้าสู่ภาวะปกติ ‘ในไม่ช้า' โดยขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวตามที่เฟดคาดการณ์ไว้"

ทั้งนี้ เฟดได้เปลี่ยนแปลงการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์จากเดิมที่ใช้คำว่า 'ในปีนี้' เป็น 'ในไม่ช้า' ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า เป็นการบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดงบดุลในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. ซึ่งจะเป็นกำหนดการประชุมครั้งต่อไป

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของเฟดจะขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ก่อนถึงการประชุมดังกล่าว ซึ่งหากเศรษฐกิจเกิดภาวะผันผวน หรือส่งสัญญาณถดถอย เฟดก็อาจจะชะลอการปรับลดงบดุลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.

ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเฟดจะปรับลดงบดุลจนถึงเมื่อใด แต่นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์คาดว่าเฟดจะปรับลดงบดุลจนถึงเดือนพ.ย.2021 ซึ่งจะทำให้เฟดลดการถือครองพันธบัตร และตราสารหนี้สู่ระดับ 2.6-3.0 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนนายเรย์มอนด์ สโตน นักวิเคราะห์จากอ๊อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดงบดุลจนถึงเดือนพ.ค.2021 สู่ระดับ 2.5-3.0 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆก็อาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระทบเศรษฐกิจ และส่งผลให้เฟดปรับแผนการปรับลดงบดุล

ขณะเดียวกัน นายเกร็ก แมคไบร์ด หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Bankrate.com มองว่ากระบวนการปรับลดงบดุลของเฟดอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 15-20 ปี ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว เฟดอาจกลับไปใช้นโยบายซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีก หากเผชิญภาวะถดถอย

นอกจากนี้ การปรับลดงบดุลของเฟดยังอาจเผชิญภาวะไม่แน่นอนจากการที่นางเยลเลนมีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนก.พ.ปีหน้า ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะไม่ต่ออายุนางเยลเลน ซึ่งหากประธานเฟดคนใหม่มีนโยบายแตกต่างจากนางเยลเลน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการปรับลดงบดุลตั้งแต่ปีหน้า แต่นางเยลเลนก็จะยังคงได้รับเครดิตในฐานะเป็นประธานเฟดซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ และปรับลดงบดุลด้วยการลดการถือครองพันธบัตรในพอร์ท หากเฟดเริ่มทำการปรับลดงบดุลในเดือนก.ย.ตามคาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่มีประธานเฟดคนใดได้เคยดำเนินการมาก่อน

*IMF ชี้การปรับลดงบดุลของเฟดแทบไม่กระทบนโยบายการเงิน

ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การปรับลดงบดุลของเฟดจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อนโยบายการเงินของเฟด

“หากเฟดเริ่มกระบวนการปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติในปลายปีนี้ งบดุลของเฟดก็จะลดลงราว 3.18 แสนล้านดอลลาร์ในปีหน้า และ 4.09 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2019" IMF ระบุในรายงาน

“การลดงบดุลในวงเงินดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินเทียบเท่ากับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพียง 0.22% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า" รายงานระบุ

IMF แสดงความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่เล็กน้อยต่อนโยบายการเงิน IMF จึงเชื่อว่าเป็นการเหมาะสมที่กระบวนการปรับงบดุลสู่ระดับปกติจะสามารถดำเนินการได้ โดยเป็นอิสระจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการจ้างงาน นอกจากว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถูกกระทบจากปัจจัยลบครั้งใหญ่ที่ไม่คาดคิดมาก่อน

*ทั่วโลกหวังเฟดเรียนผูกก็ต้องรู้จักเรียนแก้นโยบายการเงิน ลุ้นปรับลดงบดุลราบรื่น

ขณะนี้ นักลงทุนทั่วโลกต่างฝากความหวังไว้ที่นางเยลเลนในการกำกับการปรับลดงบดุลของเฟด เนื่องจากหากดำเนินการอย่างไม่รอบคอบก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลก แต่หากมีการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างราบรื่น ก็จะสร้างเสถียรภาพต่อตลาดการเงิน และตลาดหุ้นทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ