In Focus“กาตาลุญญา" ในยุคประกาศอิสรภาพ กับเอกราชราคาแพงที่รออยู่ข้างหน้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 11, 2017 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อคืนที่ผ่านมา นายคาร์เลส ปุกเดมองต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญา ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในรัฐสภาคาตาลันเพื่อประกาศอิสรภาพจากสเปน อันเป็นการแสดงความเคารพต่อมติของชาวคาตาลันประมาณ 90% ที่ใช้สิทธิลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน

แคว้นกาตาลุญญามีประชาชนราว 7.5 ล้านคน และเป็นหนึ่งในแคว้นที่ร่ำรวยมากที่สุดในสเปน ชาวคาตาลันในแคว้นกาตาลุญญาได้เริ่มเคลื่อนไหวในการรณรงค์แยกตัวเป็นอิสระจากสเปน หลังจากที่เศรษฐกิจของสเปนเผชิญกับภาวะวิกฤตตั้งแต่ในปี 2543 อย่างไรก็ดี การประกาศอิสรภาพเมื่อคืนนี้ยังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ โดยนายปุกเดมองต์ได้เรียกร้องให้รัฐสภาระงับการบังคับใช้ผลที่จะตามมาจากการประกาศอิสรภาพ เพื่อเปิดทางเจรจาข้อตกลงกับรัฐบาลสเปนก่อนเพื่อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้แคว้นกาตาลุญญายังไม่ได้แยกตัวออกจากสเปนอย่างแท้จริงแต่อย่างใด

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หากแคว้นกาตาลุญญาแยกตัวออกจากสเปนจริง สเปนก็จะเสียแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง แคว้นกาตาลุญญาเองก็มีองค์ประกอบอื่นๆที่ต้องเสียเหมือนกัน

*ได้อย่างเสียอย่าง ได้เงินภาษีคืนแต่ต้องเสียกับอะไรอีกบ้าง

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวคาตาลันต้องการแยกตัวออกจากสเปนนั้น มาจากการที่ชาวคาตาลันต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลสเปน แต่สิ่งที่ได้กลับมาจากรัฐบาลสเปนนั้นไม่คุ้มกับภาษีที่ตนเองต้องเสีย โดยหากแคว้นกาตาลุญญาประกาศแยกตัวออกจากสเปนอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อพิจารณาตามหลักการที่ควรจะเป็น แคว้นกาตาลุญญาก็จะมีอำนาจบริหารเงินภาษีจากประชาชนเอง และชาวคาตาลันก็อาจจะได้สิ่งตอบแทนภาษีของตนอย่างสมน้ำสมเนื้อยิ่งขึ้น ทว่าในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้อาจมาไม่ง่ายนัก

กรณีการแยกตัวออกจากสเปนของแคว้นกาตาลุญญา อาจเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าที่กรณีที่อังกฤษประกาศถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป เพราะอังกฤษมีโครงสร้างพื้นฐานเพียบพร้อมอยู่แล้ว ขณะที่แคว้นกาตาลุญญาแม้จะมีกลไกทำงานรองรับเมื่อแยกตัวเป็นเอกราชอยู่บ้าง เช่น มีรัฐสภา กำลังตำรวจ ระบบสุขภาพและการศึกษาเป็นของตนเอง แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยได้รับจากสเปนแล้ว แคว้นกาตาลุญญาจำเป็นต้องลงทุนอีกมากหากประกาศแยกตัวออกจากสเปนจริง เพราะปัจจุบัน แคว้นกาตาลุญญาไม่มีธนาคารกลาง ไม่มีกองทัพปกป้องดินแดน ไม่มีหน่วยงานควมคุมการจราจรทางอากาศ ทั้งยังต้องอาศัยไฟฟ้าและก๊าซจากสเปน เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแคว้นกาตาลุญญาเองก็อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาลสเปน เช่นเดียวกับสนามบิน รางรถไฟ และช่องทางบรรทุกขนส่งสินค้า เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่แคว้นกาตาลุญญาต้องลงทุนสร้างใหม่เหล่านี้แล้ว เงินภาษีของชาวคาตาลันอาจต้องสูญเสียไปกับการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่

*ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปและบทบาทบนเวทีโลกที่ต้องนับหนึ่งใหม่

เมื่อแคว้นกาตาลุญญาประกาศแยกตัวออกจากสเปนแล้ว แคว้นกาตาลุญญาก็จะหลุดออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยอัตโนมัติ ส่งผลให้แคว้นต้องยื่นขอเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปใหม่ตั้งแต่ต้น ความเป็นไปได้ในการที่แคว้นกาตาลุญญาจะได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้นค่อนข้างเลือนลาง เพราะการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิก EU ทุกประเทศ ซึ่งรวมถึงสเปนด้วย ขณะเดียวกัน ผู้นำชาติสมาชิกอื่นๆที่ทรงอิทธิพลใน EU เช่น นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ไปจนถึงประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ต่างออกมาแสดงจุดยืน่รวมกันแล้วว่าจะสนับสนุนรัฐบาลสเปน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่ามหาอำนาจแห่ง EU อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสก็คงจะไม่ยินยอมให้แคว้นกาตาลุญญาเป็นสมาชิก EU ด้วย นอกจากนี้ การหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิก EU จะทำให้แคว้นกาตาลุญญาหลุดออกจากความตกลงเชงเกนด้วยเช่นกัน ส่งผลให้จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมชายแดนขึ้นใหม่กับสเปนและฝรั่งเศส

ในส่วนของการค้ากับต่างประเทศ แม้แคว้นกาตาลุญญาจะเป็นแคว้นที่ร่ำรวยและมีการส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าแคว้นอื่นๆของสเปน และยังเป็นแคว้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของทั้งสเปน แต่ฐานะอันร่ำรวยเหล่านี้อาจเลือนหายไป เพราะการหลุดออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแยกตัวออกจากสเปนนั้นหมายความว่า แคว้นกาตาลุญญาจะเผชิญกับมาตรการกีดกันมากขึ้นเมื่อส่งออกสินค้าไปยังชาติสมาชิก EU จนทำให้เสียเปรียบสเปน มากไปกว่านั้น หากประกาศแยกตัวออกจากสเปนจริง แคว้นกาตาลุญญาก็จะหลุดออกจากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้แคว้นกาตาลุญญาไม่ได้รับสิทธิพิเศษจาก WTO เหมือนกับที่เคยได้รับเมื่อครั้งยังอยู่ในการปกครองของสเปน และท้ายที่สุดราคาสินค้านำเข้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ประชาชนตกงานมากขึ้นตาม

*การคลังและการเงินยังต้องพึ่งสเปน

รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญามีสัดส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2552 นอกจากนี้ แคว้นกาตาลุญญายังมีอันดับความน่าเชื่อถือไม่มากนักจากการจัดอันดับของหลายๆสำนัก ส่งผลให้ทุกวันนี้แคว้นกาตาลุญญาทำเรื่องกู้ยืมโดยตรงในตลาดเงินไม่ได้ จนต้องหันไปพึ่งเงินกู้ยืมจากรัฐบาลสเปน และการที่แคว้นกาตาลุญญามีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ ยังจะทำให้แคว้นกาตาลุญญามีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นหากตัดสินใจที่จะแยกตัวออกจากสเปนจริง

แวดวงการเงินนั้นดูจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะการหลุดออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปหมายความว่าแคว้นกาตาลุญญาจะพ้นสมาชิกภาพของยูโรโซนด้วย ส่งผลให้ระบบการเงินการธนาคารของแคว้นกาตาลุญญาไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล เพราะแคว้นกาตาลุญญาไม่มีธนาคารกลางคอยคุ้มครองสถาบันการเงินในดินแดน ไม่มีแม้แต่สกุลเงินของตนเอง และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ให้การคุ้มครองสถาบันการเงินในประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูโรโซนแม้วันหนึ่งแคว้นกาตาลุญญาตัดสินใจเลือกใช้เงินยูโรต่อไป จึงเท่ากับว่าแคว้นกาตาลุญญาจะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับแวดวงการเงินการธนาคารหากแยกตัวออกจากสเปน

สถาบันการเงินในแคว้นกาตาลุญญาต่างมีความวิตกในประเด็นนี้ เพราะเมื่อแยกตัวออกจากสเปนแล้ว ก็จะไม่มีหน่วยงานที่แข็งแกร่งอย่างธนาคารกลางยุโรปให้พึ่งพาอีกต่อไป ส่งผลให้ธนาคารรายใหญ่ๆของแคว้นกาตาลุญญาเริ่มย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังดินแดนของสเปน โดยธนาคาร Banco Sabadell ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในแคว้นกาตาลุญญา ได้ประกาศย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังเมืองอาลีกันเตของสเปน ส่วนธนาคาร CaixaBank ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นกาตาลุญญาเช่นกัน ก็ประกาศแผนที่จะย้ายสำนักงานจดทะเบียนไปยังเมืองวาเลนเซียของสเปน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ทางธนาคารได้รับการคุ้มครองจากธนาคารกลางสเปน และธนาคารกลางยุโรปต่อไป

*ภาคธุรกิจขอเอาตัวรอด หวั่นเดือดร้อนหนักหากยังอยู่ในแคว้นกาตาลุญญา

ด้วยอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นตามมากับการแยกตัวออกจากสเปน ทั้งเรื่องภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า ภาคธุรกิจในแคว้นกาตาลุญญาเองก็เริ่มเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์นี้ นอกเหนือไปจากสองธนาคารรายใหญ่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆที่เดิมทีตั้งอยู่ในแคว้นกาตาลุญญาก็มีการย้ายสำนักงานตามกฎหมายไปยังสเปนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน เครื่องนุ่งห่ม และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยกรุงมาดริดดูจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของบริษัทเหล่านี้ ขณะที่ทางรัฐบาลสเปนเองก็มีนโยบายอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทของแคว้นกาตาลุญญาที่ต้องการย้ายมาสเปนด้วยเช่นกัน เช่น การปรับลดขั้นตอนบางประการเพื่อให้การโยกย้ายเป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ แคว้นกาตาลุญญายังมีบริษัทต่างชาติทำธุรกิจอยู่ประมาณ 7,100 ราย รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างซิสโก้ โฟล์คสวาเกน และนิสสัน บริษัทเหล่านี้จะประสบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจหากแคว้นกาตาลุญญาแยกตัวออกจากสเปนจริง ซึ่งคาดว่าจะหนักหน่วงกว่ากรณีที่อังกฤษประกาศถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหลายเท่า เพราะแคว้นกาตาลุญญาจะกลายเป็นประเทศน้องใหม่ที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับครอบคลุมทุกด้าน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆได้ยาก เมื่อหลายๆประเทศยังไม่ยอมรับเอกราชของแคว้นกาตาลุญญา และท้ายที่สุดบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้อาจต้องย้ายสำนักงานใหญ่เข้าสเปนตามรอยบริษัทอื่นๆ

*อิตาลีจะตามรอยหรือไม่

อีกประเทศหนึ่งที่กำลังจะจัดประชามติคล้ายๆสเปนคือ อิตาลี โดยแคว้นลอมบาร์เดียที่มีเมืองหลวงคือมิลาน และแคว้นเวเนโตที่มีเมืองหลวงคือเวนิส เตรียมจัดการลงประชามติวันที่ 22 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ดี การจัดประชามติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อขออำนาจปกครองตนเอง มิใช่แยกตัวเป็นเอกราชเหมือนแคว้นกาตาลุญญา แต่ก็นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแคว้นกาตาลุญญานั้นจะมีอิทธิพลต่อชาวอิตาลีหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ