In Focusวิกฤตการเมืองเยอรมนี ฤาจะเป็นจุดจบของ "อังเกลา แมร์เคิล"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 22, 2017 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของนางอังเกลา แมร์เคิล ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี นับเป็นการคว้าชัยในการเลือกตั้งติดต่อกันเป็นสมัยที่ 4 อย่างไรก็ตาม คะแนนเสียงที่ได้รับเพียง 32.9% ถือว่าต่ำมาก ทางพรรค CDU/CSU จึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงจากพรรคประชาธิปไตยเสรี (FDP) จำนวน 10.7% และพรรคกรีน (Green Party) อีก 8.9% เพื่อที่จะครองเสียงข้างมากในสภา ทว่าเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 เดือนหลังการเลือกตั้ง นางแมร์เคิลก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม 3 ฝ่ายได้ ส่งผลให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประสบความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาล และประเทศที่ขึ้นชื่อว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกก็ต้องประสบกับวิกฤตการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ

กรอบความร่วมมือจาไมก้า

"กรอบความร่วมมือจาไมก้า" เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างพรรค CDU/CSU, พรรค FDP และพรรคกรีน โดยสีประจำพรรคการเมืองทั้งสาม ได้แก่ สีดำ สีเหลือง และสีเขียวตามลำดับ บังเอิญไปตรงกับสีธงชาติของประเทศจาไมก้าพอดี จึงเป็นที่มาของชื่อดังกล่าว

ทั้ง 3 ฝ่ายต้องบรรลุกรอบความร่วมมือจาไมก้าเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสม ทว่าที่ประชุมกลับไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพ พลังงาน และภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเมื่อต้นสัปดาห์ทางพรรค FDP ก็ได้ประกาศถอนตัวจากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยให้เหตุผลว่าขาดความเชื่อมั่นในการร่วมงานกับพรรค CDU/CSU การถอนตัวของพรรค FDP ซึ่งมีที่นั่งในสภา 80 ที่นั่ง ทำให้นางแมร์เคิลหมดสิทธิ์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และเหลือทางเลือกเพียงสองทาง หนึ่งคือ จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ และสองคือ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยร่วมกับพรรคกรีน ทั้งนี้ พรรค CDU/CSU มี 246 ที่นั่ง และพรรคกรีนมี 67 ที่นั่ง รวมเป็น 313 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์เสียงข้างมากขั้นต่ำคือ 355 ที่นั่ง จากทั้งหมด 709 ที่นั่งในสภา ขณะที่พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ซึ่งครอง 153 ที่นั่ง มากเป็นอันดับ 2 ในสภา ประกาศตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับนางแมร์เคิล

ยุโรปสั่นคลอน

ความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีถือเป็นปัญหาล่าสุดที่สหภาพยุโรปต้องรับมือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับการที่อังกฤษขอเจรจาแยกตัว (Brexit) รวมถึงวิกฤตการเมืองในแคว้นกาตาลุญญาของสเปน

นายฮอลเบ ซิสตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม 3 ฝ่ายของเยอรมนี ถือเป็นข่าวร้ายของยุโรป เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป และมีบทบาทสูงในสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน นายเอ็มมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้แสดงความวิตกังวลเกี่ยวกับภาวะชะงักงันทางการเมืองของเยอรมนี พร้อมกับแสดงความหวังว่าเยอรมนีจะยังคงเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและมั่นคง เพื่อที่ทั้งสองประเทศจะได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

อย่างไรก็ดี โฆษกของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษไม่กังวลว่าความล้มเหลวในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมในเยอรมนีจะส่งผลกระทบต่อการเจรจา Brexit โดยมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองภายใน

ขณะเดียวกัน นายวลาดิสลาฟ เบลอฟ รองผู้อำนวยการสถาบันยุโรปศึกษาประจำสภารัฐบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Academy of Sciences) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TASS เมื่อวันจันทร์ว่า วิกฤตการเมืองในเยอรมนีจะไม่ส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรป เพราะเยอรมนีมีกลไกที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในการก้าวข้ามวิกฤต พร้อมกับระบุว่า แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ เยอรมนีก็จะยังคงมีเสถียรภาพ เพราะนายแฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเยอรมนีแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งใหม่ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่าทุกพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภา มีภาระผูกพันร่วมกันในการรับใช้ประเทศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังสือพิมพ์ Spiegel ของเยอรมนีคาดการณ์ว่า การจัดการเลือกตั้งใหม่อาจใช้งบประมาณสูงถึง 92 ล้านยูโร (108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เลยทีเดียว

ช่วงขาลงของแมร์เคิล

แม้ว่านางแมร์เคิลจะคว้าชัยเลือกตั้งและครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเป็นสมัยที่ 4 ทว่าพรรค CDU/CSU ของเธอมีคะแนนเสียงตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 70 ปี อันแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่เสื่อมถอยลง โดยประชาชนต่างกระจายไปลงคะแนนให้กับพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AFD) พรรคชาตินิยมขวาจัดซึ่งได้ 94 ที่นั่ง ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ในสภา และถือเป็นม้ามืดซึ่งได้ที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปี โดยพรรคได้เคลื่อนไหวต่อต้านนางแมร์เคิลที่ดำเนินนโยบายอ้าแขนรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยนับล้านเข้าประเทศ แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับนางแมร์เคิล

นางแมร์เคิลแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่มากกว่าจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อย โดยเธอระบุว่าพร้อมจะเป็นผู้นำพรรคในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหากต้องมีการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพรรค CDU/CSU จะยังคงเลือกนางแมร์เคิลเป็นผู้นำพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ และนี่อาจเป็นจุดจบของนางแมร์เคิลที่กุมบังเหียนประเทศมานานถึง 12 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ