In Focus:เปิดโปง Bitfinex -Tether ปั่นเงินดิจิทัล นับถอยหลังบทอวสาน"บิตคอยน์"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 7, 2018 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลของหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ส่งสัญญาณเข้าคุมเข้มการซื้อขายสกุลเงินดังกล่าว

นอกจากนี้ บิตคอยน์ยังได้รับผลกระทบจากข่าวใหญ่ที่ว่า Bitfinex จับมือTether ปั่นราคาบิตคอยน์ ส่งผลให้บิตคอยน์ร่วงลงถึง 12% ในวันศุกร์ หลุดระดับ 8,000 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ และบิตคอยน์ยังได้ทรุดตัวลงมากกว่า 30% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดรายสัปดาห์ในรอบ 4 ปี ขณะที่มีผู้ฟันธงว่าราคาบิตคอยน์จะทรุดตัวลงจนเหลือศูนย์ในที่สุด

In Focus สัปดาห์นี้จะเจาะลึกถึงข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการปั่นค่าเงินบิตคอยน์ดังกล่าว และอนาคตของบิตคอยน์จะดับวูบลงหรือไม่ ท่ามกลางมรสุมที่ถาโถมเข้าใส่ในระยะนี้

*ผู้บริหาร Bitfinex - Tether เล่นเอง ชงเอง ปั่นราคาบิตคอยน์

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์สรายงานว่า นักลงทุนจำนวนมากที่ทำการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลมีความวิตกกังวลต่อการที่ Bitfinex ซึ่งเป็นตลาดหรือแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ได้ทำการปั่นราคาบิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Bitfinex จะสมรู้ร่วมคิดกับ Tether Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล และมีการออกสกุลเงิน Tether โดยผู้บริหารหลายคนใน Bitfinex ก็เป็นผู้บริหารใน Tether Limited เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะซีอีโอของ Bitfinex และ Tether Limited ก็คือ Jan Ludovicus van der Velde ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปั่นค่าเงินบิตคอยน์ และ Tether

Tether Limited จะสร้าง Tether ใหม่จำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ ทุกครั้งที่ราคาบิตคอยน์ดิ่งลง และจะมีการใช้เงิน Tether เหล่านี้เข้าซื้อบิตคอยน์ใน Bitfinex เพื่อหนุนให้ราคาบิตคอยน์ดีดตัวขึ้น ส่งผลให้ราคาอ้างอิงของบิตคอยน์ใน Bitfinex ดูสูงกว่าในแพลตฟอร์มซื้อขายอื่นๆ

ที่ผ่านมา ราคาอ้างอิงของสกุลเงินดิจิทัลที่มีการซื้อขายใน Bitfinex ได้ถูกนำไปคำนวณดัชนีราคาของ CoinDesk ซึ่งได้ประมวลราคาสกุลเงินดิจิทัลจากราคาอ้างอิงของแพลตฟอร์ม 4 แห่ง ได้แก่ Bitstamp, Coinbase, itBit รวมทั้ง Bitfinex

*สหรัฐออกหมายศาลแจ้ง Bitfinex – Tether เข้าชี้แจง

ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คณะกรรมาธิการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) ของสหรัฐ ได้มีหมายศาลแจ้งให้ Bitfinex และ Tether Limited เข้าให้การต่อ CFTC เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ CFTC ต้องการตรวจสอบว่า สกุลเงิน Tether ได้รับการหนุนหลังด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตามที่บริษัทกล่าวอ้างจริงหรือไม่

ทั้งนี้ บริษัท Tether Limited อ้างว่าการออกสกุลเงิน Tether มีการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีดอลลาร์สหรัฐหนุนหลังในสัดส่วน 1:1 แต่บริษัทก็ได้ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อธนาคารที่เก็บเงินสดสำรองจำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่บริษัทกล่าวอ้าง

  • Tether Limited เล่นกลใช้ Tether สร้างราคาบิตคอยน์

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการพบความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับ Tether Limited โดยมักมีการสร้าง Tether ใหม่จำนวนมาก ทันทีที่ราคาบิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆดิ่งลง และจะมีการใช้เงิน Tether เหล่านี้เข้าซื้อบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลใน Bitfinex เพื่อผลักดันให้บิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลมีราคาสูงขึ้น

ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า ราคาของบิตคอยน์ และ Tether มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ได้ข้อสรุปว่า มีการสร้าง Tether ขึ้น ในช่วงที่บิตคอยน์กำลังทรุดตัวลง

มีการมองกันว่า บริษัท Tether Limited ขาดความโปร่งใส แม้แต่ก่อนที่จะได้รับหมายศาลจาก CFTC เนื่องจากบริษัทมีโครงสร้างที่ซับซ้อน โดยมีผู้บริหารเป็นชาวยุโรป แต่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในฮ่องกง และมีการจดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จินในทะเลแคริบเบียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักฟอกเงิน ขณะที่บริษัทฟรีดแมน แอลแอลพี ก็ได้ประกาศยุติบทบาทการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท

*Tether ล้ม = บิตคอยน์ล้ม ?

หลายฝ่ายวิตกว่า หาก Tether มีอันเป็นไป ก็จะพลอยส่งผลกระทบให้บิตคอยน์ล้มครืนลงด้วย เนื่องจากจะขาด Tether เข้าแอบหนุนค่าเงินบิตคอยน์ดังที่ได้เคยทำมาผ่านทาง Bitfinex

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า Tether Limited อาจไม่มีเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงพอที่จะหนุนหลังสกุลเงิน Tether ที่มีการหมุนเวียนในตลาด

ในการซื้อขายเมื่อวานนี้ บิตคอยน์ดิ่งลงราว 12% หลุดระดับ 6,000 ดอลลาร์ แตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ส่งผลให้บิตคอยน์ปรับตัวลงมากกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 15,000 ดอลลาร์ หลังจากพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใกล้ระดับ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

มูลค่าตลาดของบิตคอยน์ลดลงมากกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 1.06 แสนล้านดอลลาร์ และร่วงลง 2.335 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดลดลงสู่ 2.824 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ปีที่แล้ว โดยวูบหายไปมากกว่า 50% จากระดับในช่วงต้นปี ซึ่งขณะนั้นมีมูลค่าตลาดมากกว่า 8.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

  • "ดร.ดูม"ฟันธงราคาบิตคอยน์ทรุดตัวลงจนเหลือศูนย์

นายนูรีเอล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ฉายา "ดร.ดูม" (Dr Doom) ซึ่งมักทำนายเหตุการณ์เลวร้ายถูกต้องมาหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ตลาดหุ้นทรุดตัวในปี 2551 ได้ทวีตข้อความเมื่อวานนี้เตือนว่า ราคาบิตคอยน์จะทรุดตัวลงจนเหลือศูนย์

"ตามคาด บิตคอยน์ดิ่งลงต่ำกว่า 6,000 ดอลลาร์ เข้าสู่ช่วง 5,000 ดอลลาร์ ขณะที่สภาคองเกรสจะมีการฟังคำให้การเกี่ยวกับการหลอกลวงโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล พวกนักลงทุนที่โง่เขลาจะกอดบิตคอยน์จนกว่าจะมีค่าเหลือศูนย์ ขณะที่คนโกงจะเทขายและหนีลอยนวล" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

นอกจากนี้ นายรูบินียังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้ากวาดล้างขบวนการปั่นราคาบิตคอยน์ในตลาด

ก่อนหน้านี้ นายรูบินีเคยกล่าวถึงบิตคอยน์ว่าเป็นฟองสบู่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

  • ชนวนต้นเหตุอวสาน"บิตคอยน์"

นอกจากข่าวอื้อฉาวของการปั่นค่าเงินบิตคอยน์แล้ว นักวิเคราะห์ยังได้ให้เหตุผลอีก 7 ประการที่จะนำไปสู่การล่มสลายของบิตคอยน์ ซี่งได้แก่

1) ความเฉื่อยของการทำธุรกรรมบิตคอยน์

ปัจจุบันการซื้อขายบิตคอยน์ต้องใช้เวลาเฉลี่ยนานถึง 10 ชั่วโมงสำหรับการยืนยันการทำธุรกรรม และหากเป็นในช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึง 2,322 นาที หรือราว 38 ชั่วโมงในการรอการยืนยันการทำธุรกรรม เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าซื้อขายบิตคอยน์จำนวนมาก จนทำให้เกิดภาวะคอขวดในระบบเครือข่ายบล็อกเชน

2) ราคาค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่ว

ในขณะนี้ ผู้ที่ทำการซื้อขายบิตคอยน์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเฉลี่ยราว 25 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับในช่วงต้นปีที่แล้ว และสูงกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่น

3) ภาครัฐ-เอกชนจำกัดการเข้าถึงบิตคอยน์

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาคุมเข้มกฎระเบียบในการซื้อขายบิตคอยน์ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และล่าสุดสหรัฐก็ส่งสัญญาณจะเข้าควบคุมบิตคอยน์เช่นกัน หลังจากที่พบว่าราคาพุ่งขึ้นมากจนอาจเกิดภาวะฟองสบู่แตก และหลังเกิดกรณีแฮกเกอร์เจาะเข้าระบบแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ และได้โจรกรรมสกุลเงินดิจิทัลได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกก็ได้ประกาศห้ามลูกค้าใช้บัตรเครดิตของธนาคารรูดซื้อบิตคอยน์

4) ปัญหาการขุดเหมืองหาบิตคอยน์

รัฐบาลจีนมีแผนที่จะสั่งห้ามการขุดเหมืองหาบิตคอยน์ ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริงก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณบิตคอยน์ในตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ขุดบิตคอยน์ได้มากที่สุดในโลก โดยสามารถขุดเหมืองหาบิตคอยน์ได้ถึง 60% ของปริมาณบิตคอยน์ทั่วโลก

นอกจากนี้ ปริมาณบิตคอยน์ที่ได้จากการขุดเหมืองทั่วโลกได้ลดลงอย่างมาก จากเดิมที่การขุดเหมือง 1 ครั้งจะได้ 50 บิตคอยน์ แต่ตัวเลขได้ลดลงสู่ระดับ 25 บิตคอยน์ และปัจจุบันอยู่ที่ 12.5 บิตคอยน์ ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2020 การขุดเหมืองเพื่อหาบิตคอยน์ในแต่ละครั้งจะได้บิตคอยน์เพียง 6.25 บิตคอยน์ ซึ่งจะทำให้การขุดเหมืองไม่มีกำไรอีกต่อไป

5) การสูญเสียข้อได้เปรียบในการปกปิดข้อมูลส่วนตัว

สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้มีคนแห่เข้าซื้อขายบิตคอยน์ก็คือ การที่นักลงทุนไม่ต้องเปิดเผยตัวตนในการทำธุรกรรม แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกกำลังหันมาพุ่งเป้าสกุลเงินดิจิทัล โดยบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสกัดการหลบเลี่ยงภาษี และมิให้มีการใช้บิตคอยน์เป็นช่องทางก่ออาชญากรรม และการฟอกเงิน

6) การโจมตีจากแฮกเกอร์

บิตคอยน์ถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัย หลังเกิดกรณีแฮกเกอร์ลักลอบเจาะเข้าระบบ และสามารถโจรกรรมสกุลเงินดิจิทัลได้หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา เช่น กรณีที่ NiceHash ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้บริการขุดบิตคอยน์ชื่อดัง ถูกแฮกเกอร์ปล้นบิตคอยน์มูลค่าเกือบ 70 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Mt. Gox ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในกรุงโตเกียวที่รับแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก่อนหน้านี้ ได้ประกาศปิดเว็บไซต์และหยุดให้บริการ เนื่องจากถูกแฮกเกอร์ขโมยบิตคอยน์คิดเป็นมูลค่าถึง 450 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดในเดือนที่แล้ว บริษัท Coincheck ผู้ให้บริการซื้อขายสกุลเงิน NEM ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล เปิดเผยว่า แฮกเกอร์ได้โจรกรรม NEM ไปจากระบบเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5.8 หมื่นล้านเยน (423 ล้านดอลลาร์)

7)บิตคอยน์ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยตามที่กล่าวอ้าง

ในช่วงแรกนั้น บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับคำสัญญาแก่นักลงทุนว่า บิตคอยน์จะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกที่เป็นอิสระจากสินทรัพย์อื่น

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงในวันจันทร์ และดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 4.1% ทำสถิติร่วงลงมากที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันก็ได้ปรับตัวลงเช่นกัน บิตคอยน์ได้ร่วงลงถึง 15% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ทำให้มีการมองกันว่าบิตคอยน์ไม่ได้มีสถานะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ในยามที่สินทรัพย์อื่นดิ่งลงอย่างหนัก

*จับตาฉากจบบิตคอยน์ จากสูงสุดคืนสู่สามัญ?

ขณะนี้ รัฐบาลต่างๆยังไม่ได้ให้การยอมรับว่าบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมาย หากนักลงทุนประเภทหมูไม่กลัวน้ำร้อน ยังคงเดินหน้าทุ่มเงินซื้อบิตคอยน์ โดยหวังว่าจะรวยทางลัด ก็อาจจะต้องเจ็บตัว หากเกิดการขาดทุน หรือถูกแฮกเกอร์ฉกเงินในระบบ เนื่องจากจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ

และจากการที่บิตคอยน์ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เพิ่งทะยานใกล้ระดับ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เราคงต้องดูกันต่อไปว่าบิตคอยน์จะมีอนาคตเป็นอย่างไร จะรุ่งโรจน์ หรือรุ่งริ่งอย่างที่หลายฝ่ายเคยออกมาเตือนกันก่อนหน้านี้ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ