In Focus"เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน" รมว.ต่างประเทศสหรัฐกับการเข้ามาทำหน้าที่และการจากไปที่ไม่ธรรมดา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 21, 2018 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หนึ่งในเรื่องเด่นประเด็นดังที่สื่อสำนักต่าง ๆ ยังคงพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องคงหนีไม่พ้นกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน เรื่องดังกล่าวได้สร้างความฉงนใจให้กับผู้คนมากมายที่ติดตามสถานการณ์การเมืองโลกอย่างใกล้ชิด เพราะการปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐผู้เป็นมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน ดังนั้น การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาจทำให้สหรัฐเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินกิจการต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง

*การขึ้นมาเป็นรมว.ต่างประเทศของ "เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน": มาแบบไม่ธรรมดา ไปแบบไม่ธรรมดา

การเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐของนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะถ้าหากชวนให้นึกถึงเรื่องราวการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ หลาย ๆ คนคงนึกถึง นักการเมือง หรือนักการทูต หรือผู้ที่เคยมีบทบาท ประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ แต่สำหรับนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สันนั้น เขาเคยเป็นซีอีโอของบริษัท เอ็กซอน โมบิล ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ซึ่งแม้นายทิลเลอร์สันจะมีประสบการณ์ในการเจรจา การทำข้อตกลงระดับนานาชาติ แต่ก็เป็นเพียงการเจรจาในฐานะบริษัทเท่านั้น ไม่มีข้อมูลปรากฎว่า นายทิลเลอร์สันมีประสบการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐ อย่างไรก็ดี การได้เป็นถึงซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับเอ็กซอนโมบิล ก็พอจะพิสูจน์ได้ว่า นายทิลเลอร์สันไม่ธรรมดาอย่างไร

นอกจากนี้ การตัดสินใจเข้ามาดำรงตำแหน่งของเขาก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน สำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ เจอร์นัล รีวิว เคยรายงานเกี่ยวกับสาเหตุที่นายทิลเลอร์สันได้ตัดสินใจเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐว่า เขาไม่ได้ต้องการที่จะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ความตั้งใจเดิมของเขาคือ การเกษียณอายุออกจากเอ็กซอนโมบิลและใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว แต่หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขอเข้าพบเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์โลก นายทิลเลอร์สันกลับถูกทาบทามให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งผู้ที่สนับสนุนและผลักดันให้นายทิลเลอร์สันตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งในที่สุดก็คือ "ภรรยาของเขานั่นเอง"

เมื่อถึงคราวที่ต้องพ้นตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของเขาก็เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาอีกเช่นกัน แม้ว่าเรื่องการปลดหรือโยกย้ายบุคคลออกจากตำแหน่งใดๆทางการเมืองจะถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่สำหรับการปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กลับไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นการปลดแบบกะทันหัน โดยที่ทั่วโลกรู้พร้อมกันผ่าน "ทวิตเตอร์" ของทรัมป์ ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐก็ได้ออกมายืนยันหลังจากนั้นว่า นายทิลเลอร์สันเองก็ไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะถูกปลดจากตำแหน่งเหมือนกัน

*สาเหตุของการหลุดจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน

แน่นอนว่า การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐของนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากที่มาที่ไป หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และโดนัลด์ ทรัมป์ ในอดีต จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ค่อนข้างจะตึงเครียด ความสัมพันธ์ที่เริ่มจะไม่ลงรอยนั้นเริ่มปรากฎให้เห็นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 โดยมีข่าวลือจากสื่อหลายสำนักระบุว่า ทิลเลอร์สันพูดถึงทรัมป์ว่าเป็นคน "ปัญญาอ่อน" ซึ่งนายทิลเลอร์สันเองก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธหรือยอมรับใด ๆ เกี่ยวกับกรณีนี้

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวจากทั้งสองฝ่ายหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองไม่ได้มีความคิดเห็นที่ตรงกัน สำหรับประเด็นเกาหลีเหนือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เคยโพสต์ข้อความเชิงวิจารณ์นายทิลเลอร์สันว่า นายทิลเลอร์สันกำลังเสียเวลาไปกับการเจรจากับเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นอื่น ๆ อีก เช่น ประเด็นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน รัมป์มองว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นข้อตกลงที่แย่ที่สุด และเป็นข้อตกลงที่ไม่สร้างประโยชน์อันใดให้กับสหรัฐ ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ทรัมป์ตั้งใจที่จะถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าว แต่ทว่า นายทิลเลอร์สันกลับออกมาแถลงว่า สหรัฐจะยังไม่ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน แต่จะใช้ยุทธศาสตร์ใหม่กับอิหร่านแทน ซึ่งหลังจากนั้นก็เริ่มมีข่าวลือระลอกใหม่หลุดออกมาในช่วงต้นเดือนธ.ค. ปีที่แล้วว่า ทรัมป์จะปลดทิลเลอร์สันออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เนื่องจากทิลเลอร์สันไม่ตอบสนองนโยบายของตนเอง อย่างไรก็ดี ช่วงนั้น รัฐบาลสหรัฐกลับยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง

ประเด็นล่าสุด คือ ประเด็นเกี่ยวกับจุดยืนที่มีต่อรัสเซีย ช่วงแรก ๆ ที่นายทิลเลอร์สันเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ มีหลายฝ่ายกังวลว่า นายทิลเลอร์สันมีท่าทีที่สนิทและใกล้ชิดกับรัสเซีย อย่างไรก็ดี สุดท้าย กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เรื่องดังกล่าวก็ไม่อาจเกิดขึ้นตามที่คิดเสมอไป ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัสเซียกลับตึงเครียดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีล่าสุดที่ทิลเลอร์สันออกตัวแรง ว่ารัสเซียว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางยาพิษอดีตสายลับของรัสเซียที่แปรพักตร์ไปทำงานให้กับ MI 6 ของอังกฤษ

นอกจากประเด็นเด่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศที่ทรัมป์และทิลเลอร์สันมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เช่น ประเด็นในอัฟกานิสถาน กาตาร์ และเวเนซูเอลา

*สถานการณ์หลังการปลดออกจากตำแหน่ง จนถึงปัจจุบัน

หลังจากที่ข้อความทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ถูกโพสต์ไปไม่นาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สันได้ออกมายืนยันแล้วว่า ตนเองจะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มี.ค. นี้ และได้ให้คำมั่นว่า จะดูแลให้ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นไปอย่างเป็นระบบและราบรื่น

เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว บุคคลที่จะเข้ามารับช่วงต่อก็คือ นายไมค์ ปอมเปโอ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐแคนซัส ได้รับการต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ในปี 2560 จนถึงปัจจุบัน สำหรับตำแหน่งผู้อำนวย CIA นั้น ก็จะมี นางจีน่า แฮสเปล เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งนางแฮสเปลจะเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ

หลังจากมีการประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งแล้ว ประเทศต่างๆและองค์การระหว่างประเทศส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เริ่มต้นที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN แสดงออกเพียงแค่ว่า พร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างอิหร่าน ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า สหรัฐอาจถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่านและประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐ เนื่องจากการถอนตัวของสหรัฐเป็นสิ่งที่ทรัมป์ต้องการมาโดยตลอด แต่การถอนตัวที่เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนั้น เป็นเพราะนายทิลเลอร์สันไม่เห็นด้วย

ฝ่ายรัสเซียที่เพิ่งถูกนายทิลเลอร์สันวิจารณ์ไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้ออกมาแสดงความหวังว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐและรัสเซียจะดีขึ้นในอนาคต เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้นแย่ลง และนายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินได้ออกมากล่าวว่า "หวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และสงบ"

*เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร?

สำหรับแนวโน้มของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐภายใต้รัฐมนตรีต่างประเทศที่ชื่อ "ไมค์ ปอมเปโอ" นั้น สื่อหลายสำนักมองว่า ต่อไปผู้นำสหรัฐน่าจะหาจุดยืนร่วมกันในประเด็นต่างๆได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็กับเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เพราะนายปอมเปโอ เคยวิจารณ์ข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่านในช่วงที่นายบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทรัมป์กับทิลเลอร์สันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันชนิดอยู่คนละขั้ว

อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะการบริหารประเทศที่ค่อนข้างเดาได้ยากของท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า สหรัฐจะมีความเคลื่อนไหวเช่นไรต่อไป เรียกได้ว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และกรณีการปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อย่างเฉียบพลันก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเด่นที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความคาดเดายากนั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ