In Focusควันหลงผลการเลือกตั้งปธน.เวเนซูเอลา: การเริ่มต้นใหม่ท่ามกลางกระแสต่อต้าน กับโจทย์ท้าทายที่ต้องเผชิญต่อ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 23, 2018 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งเวเนซูเอลา (CNE) ได้ออกมายืนยันว่า นายนิโคลัส มาดูโร ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซูเอลาซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยได้รับคะแนนเสียง 6,190,612 เสียง ทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่างนายเฮนรี ฟอลคอน จากพรรคก้าวหน้าที่ได้รับคะแนนเสียง 1,917,036 เสียง นายคาเวียร์ เบตุชชี จากกลุ่มเคลื่อนไหว "ความหวังเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ที่ได้รับคะแนนเสียง 988,761 เสียง และนายเรนัลโด คีคาดา จากกลุ่มเอกภาพประชาการเมือง (UPP89) ที่ได้รับคะแนนเสียงไปเพียง 36,246 เสียงเท่านั้น ส่งผลให้นายมาดูโรครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปเป็นสมัยที่ 2 ในระยะเวลาอีก 6 ปีต่อจากนี้

แม้ว่า การประกาศผลการเลือกตั้งโดย CNE ได้ผ่านไปเป็นเวลากว่า 2 วันแล้ว แต่กระแสเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้นำไปสู่สถานการณ์ที่ราบรื่นนัก เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดขึ้น In Focus วันนี้จึงขอเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมติดตามสถานการณ์ "ควันหลงการเลือกตั้งเวเนซูเอลา" ไปพร้อม ๆ กันว่ามีประเด็นอะไรที่เกิดขึ้นบ้างหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีประเด็นเกี่ยวข้องประเด็นใดอีกบ้างที่น่าสนใจและน่ากล่าวถึง

*"มาดูโร" กับเส้นทางที่ไม่ราบรื่นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

หากมองย้อนกลับไปก่อนวันเลือกตั้ง จะพบว่า นายนิโคลัส มาดูโร ในฐานะประธานาธิบดีเวเนซูเอลา กำลังเผชิญกับอุปสรรครอบด้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะการที่จะต้องฝ่าฟันกับกระแสต่อต้านและเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศ เพราะประชาชนไม่พอใจในรัฐบาลของเขา เนื่องจากเวเนซูเอลากำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังมีกระแสต่อต้านอันเนื่องมาจากความพยายามของเขาที่จะตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ (ANC) ในปี 2560 เพื่อมอบอำนาจให้ ANC มีสิทธิแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปรัฐบาล และมีการออกบทบัญญัติที่กำหนดให้ ANC มีอำนาจสูงสุดเหนือหน่วยงานทั้งหมดของรัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ANC จะเปิดทางสู่การสืบทอดอำนาจเผด็จการของพรรคสังคมนิยม นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวบวกกับพรรคสังคมนิยมที่นายมาดูโรสังกัดอยู่ทำให้ประเทศอื่น ๆ ที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมองว่า การใช้อำนาจของนายมาดูโรเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย

โดยเฉพาะสหรัฐที่มีท่าที่ต่อต้านเวเนซูเอลาอย่างชัดเจนในช่วงที่รัฐบาลของนายมาดูโรที่ได้เดินหน้าจัดการเลือกตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ (ANC) ที่สหรัฐมองว่าตั้งขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเสริมอำนาจของนายมาดูโร นอกจากนี้ ยังได้ขู่คว่ำบาตรเวเนซูเอลาเพิ่มเติมหลังจากที่ได้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของเวเนซูเอลาหลายรายซึ่งล้วนถูกกล่าวหาว่าทุจริตและละเมิดสิทธิของประชาชน อีกทั้งยังเคยเรียกร้องให้เวเนซูเอลาเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีออกไป จากเดิมที่มีการกำหนดไว้ในวันที่ 20 พ.ค. นอกจากนี้สหรัฐยังได้แรงหนุนจากอียูและประเทศในละตินอเมริกาอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดได้กล่าวเตือนว่า จะเดินหน้ากดดันเวเนซูเอลา หากนายมาดูโรยังคงผลักดันให้มีการเลือกตั้งต่อไป

อย่างไรก็ดี กระแสต่อต้านและการกดดันต่าง ๆ ก็ไม่ได้ทำให้นายมาดูโรเปลี่ยนจุดยืน โดยยังคงเดินหน้าให้จัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม ด้วยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่สงบเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ได้นำไปสู่สถานการณ์ที่ราบรื่นขึ้นเลย

*ชัยชนะที่ไม่ได้นำไปสู่ความสงบ ในประเทศและนอกประเทศยังกดดัน "มาดูโร" ต่อไป

แม้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเวเนเซุเอลา (CNE) ได้ออกมายืนยันชัยชนะของนายนิโคลัส มาดูโร ไปแล้ว และนายมาดูโรเองก็ได้ประกาศชัยชนะต่อหน้าสาธารณะชนไปแล้ว แต่ปรากฎว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับตกอยู่ในสภาวะน่ากังขา ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศชัยชนะไป นายเฮนรี่ ฟอลคอน จากพรรคก้าวหน้าที่มีคะแนนโหวตเป็นอันดับ 2 ได้ออกมาประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทันที โดยอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ปราศจากความโปร่งใส และเป็นคะแนนโหวตจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 46% เท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้ รัฐบาลของนายมาดูโรยังได้แบนพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคซึ่งรวมถึงการแบนคู่แข่งที่ได้รับความนิยมสูง 2 รายจากการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ การกระทำดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ส่อถึงการทุจริตการเลือกตั้งและเอื้อประโยชน์ต่อนายมาดูโร ตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านจึงได้เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่

ส่วนสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในเรื่องนี้เสมอมา ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งยังจ่อคว่ำบาตรเวเนซูเอลาชุดใหม่ เริ่มต้นจากการที่นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐได้โพสต์ข้อความไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พร้อมกล่าววิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องหลอกลวง หลังจากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ลงนามในคำสั่งคว่ำบาตรเวเนซูเอลา โดยห้ามไม่ให้พลเมืองในสหรัฐหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐซื้อพันธบัตรของรัฐบาลเวเนซูเอลา หรือเข้าถือครองหุ้นส่วนในบริษัทสัญชาติเวเนซูเอลา โดยการคว่ำบาตรในครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ CITGO บริษัทน้ำมันในเครือของ PDVSA ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลเวเนซูเอลา

สหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่เคียงข้างสหรัฐมาโดยตลอดก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านผลการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นเดียวกับสหรัฐ โดยนางเฟเดอริกา ม็อกเฮอรินี ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของ EU ได้ออกแถลงการณ์ในนามของ EU โดยได้วิจารณ์การเลือกตั้งในเวเนซูเอลาว่า "ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขั้นต่ำ และไม่เคารพต่อความเป็นพหุนิยมทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใส และหลักนิติธรรม" นอกจากนี้ยังได้แสดงท่าทีว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรโจมตีรัฐบาลเวเนซูเอลาอีกด้วย โดยกล่าวว่า "EU และประเทศสมาชิกจะพิจารณาใช้มาตรการที่เหมาะสมต่อไป"

ขณะที่รัฐบาลของประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศในกลุ่มลิมาซึ่งประกอบไปด้วย เปรู อาร์เจนตินา บราซิล เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซานตาลูเซีย แคนาดา โคลอมเบีย ฮอนดูรัส คอสตาริกา และกัวเตมาลา ก็ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีชิลีที่ออกแถลงการณ์โจมตีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซูเอลาขาดความชอบธรรม ไม่มีความโปร่งใส และไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

*ชัยชนะที่มาพร้อมกับภารกิจอันหนักอึ้ง

แม้ว่าชัยชนะจากสนามเลือกตั้งจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ไม่ได้หมายความว่านายมาดูโรจะสามารถนั่งอยู่บนเก้าอี้ประธานาธิบดีได้อย่างสุขสบาย เพราะสถานการณ์ที่แสนจะย่ำแย่ในเวเนซูเอลายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายต่อการบริหารประเทศเป็นอย่างมาก เวเนซูเอลาซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันเป็นหลักมากเกินไปได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่นับได้ว่าเป็นมรสุมครั้งใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมากจนน่าตกใจ ส่วนประชาชนก็กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ส่งผลให้เกิดวิกฤตผู้อพยพตามมา โดยมีชาวเวเนซูเอลาอพยพเข้าโคลอมเบียจำนวนหลายพันคนต่อวัน ซึ่งถ้าหากนับจากเดือนส.ค. 2560 จนถึงเดือน ก.พ. 2561 แล้วพบว่ามีชาวเวเนซูเอลาอพยพเข้าโคลอมเบียรวมแล้วกว่า 250,000 คน

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลเรื่องถัดไปก็คือ หากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ ก็จะหมายความว่า รัฐบาลของนายมาดูโรยังจะต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคที่หนักยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนี้สหรัฐก็พร้อมที่จะเดินหน้ากดดันรัฐบาลเวเนซูเอลาต่อไป และยังมีอีกหลายประเทศที่พร้อมสนับสนุนสหรัฐฯ มาตรการหลัก ๆ ที่มักจะถูกนำมาใช้ก็คือ การกดดันทางเศรษฐกิจด้วยการคว่ำบาตร ซึ่งถ้าหากเวเนซูเอลาโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในขั้นวิกฤตเช่นนี้ ก็นับว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ คงดำเนินไปอย่างยากลำบากมาก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลของนายมาดูโรจะต้องแบกรับเพิ่มนอกเหนือไปจากการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องและสวัสดิการของประชาชนในประเทศของตน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ