แถลงข่าวร่วม ว่าด้วยแผนระยะยาวในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย — จีน ในโอกาสที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ข่าวต่างประเทศ Monday October 14, 2013 13:40 —กระทรวงการต่างประเทศ

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

แถลงข่าวร่วม ว่าด้วยแผนระยะยาวในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย — จีน

ในโอกาสที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งราชอาณาจักรไทย

ในระหว่างการเยือนนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และพบหารือกับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะและเห็นพ้องเรื่องต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในวงกว้าง ทั้งประเด็นทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยังพบหารือกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา ทั้งสองฝ่ายพอใจกับผลการเยือนครั้งนี้ และเชื่อว่าการเยือนดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญของความพยายามที่ดำเนินมายาวนานในการกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแถลงดังนี้:

๑. สองฝ่ายแสดงความพอใจสถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีในปัจจุบัน และความก้าวหน้าที่มีขึ้นในความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า นับตั้งแต่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ความสัมพันธ์ไทย — จีนได้เข้าสู่พัฒนาการใหม่ มีศักยภาพและโอกาสความร่วมมือในอนาคตที่มากขึ้น โดยก้าวเหนือประเด็นทวิภาคีและสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับ ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย และต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและของโลก ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตัดสินใจจะพัฒนาความสัมพันธ์ไทย — จีน และส่งเสริมความร่วมมือกัน ดังนี้:

ประเด็นการเมือง

๒. สองฝ่ายย้ำพันธกรณีของตนที่มีต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎบัตรสหประชาชาติ หลักห้าประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ประเทศไทยย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อพัฒนาการความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบและการรวมชาติของจีนโดยสันติ ส่วนจีนได้ย้ำถึงความเคารพและสนับสนุนความพยายามของไทยที่จะรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน เพื่อบรรลุเสถียรภาพด้านการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

๓. สองฝ่ายจะปฏิบัติตามปฏิญญาร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ประกาศเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๒ และจะใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย — จีน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย รวมทั้งจะผลักดันความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ

เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเงิน

๔. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการสื่อสารกัน และส่งเสริมการอำนวยความสะดวกแก่การเติบโตของการค้าและการลงทุนทวิภาคีผ่านกลไกต่าง ๆ เช่นคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนไทย — จีน

๕. สองฝ่ายย้ำถึงความปรารถนาที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคี ๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องว่าการค้าและความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ควรดำเนินไปภายใต้แผนพัฒนาระยะ ๕ ปี ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจไทย—จีน ซึ่งจะกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ

๖. สองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนทวิภาคีโดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตรต่อกัน

๗. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือให้ใกล้ชิดขึ้นในด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์ระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว และเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

๘. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเกษตรผ่านการพัฒนาสหกรณ์ การแปรรูปและการค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร การลงทุนในธุรกิจด้านการเกษตร และการประสานนโยบายด้านการเกษตรกันภายใต้กลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

๙. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคารให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่งเสริมการใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นของแต่ละประเทศในการชำระเงินการค้าและการลงทุนทวิภาคี ดำเนินการกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสมบูรณ์ และอำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเรื่องการจัดระบบบริการหักบัญชีเงินหยวน (RMB clearing service) ที่สะดวกขึ้น

การป้องกันประเทศและความมั่นคง

๑๐. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเยือนระหว่างกองทัพ ผ่านการหารือประจำปีด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมการร่วมซ้อมรบ และการฝึกต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และขยายความร่วมมือด้านความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

๑๑. สองฝ่ายเห็นพ้องจะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมความพยายามป้องกันและต่อต้านการก่อการร้าย การลักลอบขนยาเสพติด การค้ามนุษย์ การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การหลอกลวงทางโทรศัพท์ การฟอกเงิน อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมทางอาชญากรรมอื่น ๆ ที่อยู่ในความวิตกกังวลร่วมกัน และส่งเสริมการสร้างสถาบันด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงในแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องจะกระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในสาขาความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์อีกด้วย

การคมนาคมและความเชื่อมโยง

๑๒. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเชื่อมโครงข่ายระบบรางผ่าน สปป. ลาว เมียนมาร์ และเชื่อมถนน ท่าเรือ ท่าอากาศยานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและคน และเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาค

๑๓. ฝ่ายจีนแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างหนองคายกับ บ้านภาชี โดยให้มีการชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนในรูปสินค้าเกษตร

๑๔. ในการนี้ ฝ่ายไทยยินดีต่อความสนใจของฝ่ายจีน และจะเข้าสู่การหารือเรื่องดังกล่าวกับฝ่ายจีนในโอกาสแรก บนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟในประเทศไทย โดยแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรจากประเทศไทย ที่ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๓

วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว

๑๕. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการอย่างกระตือรือร้นตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมทั้งสองฝ่าย เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในแต่ละประเทศยิ่งขึ้น ฝ่ายจีนจะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย ณ กรุงปักกิ่ง และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่การก่อสร้าง ฝ่ายไทยย้ำว่าจะสนับสนุนศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนในด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ รวมถึงความร่วมมือในการผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ทั้งสองฝ่ายส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านวรรณกรรมและภาษาของกันและกัน และสนับสนุนให้สำนักพิมพ์ของตนเข้ามีส่วนร่วมในงานมหกรรมหนังสือที่จัดขึ้นในอีกประเทศอีกด้วย

๑๖. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามความตกลงทวิภาคีต่าง ๆ เรื่องความร่วมมือด้านการศึกษา และการรับรองวุฒิบัตรและปริญญาที่ออกโดยสถาบันอุดมศึกษาของกันและกัน รวมทั้งกระชับความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยระหว่างหน่วยงานรัฐบาล สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในแต่ละประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังยินดีต่อการจัดตั้งสถาบันขงจื้อและห้องเรียนขงจื้อแห่งใหม่ในประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่างชาติ เพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และส่งเสริมความร่วมมือในการฝึกอบรมวิชาชีพอีกด้วย

๑๗. สองฝ่ายยินดีที่จะเจรจาและลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย — จีน เพื่ออำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ระดับประชาชนระหว่างประเทศทั้งสอง

๑๘. สองฝ่ายหวังจะขยายปริมาณการท่องเที่ยวระหว่างกันโดยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวของตนเดินทางไปอีกประเทศเพิ่มขึ้น และส่งเสริมคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านท่องเที่ยว รวมถึงการให้บริการและการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นแก่นักท่องเที่ยว และปกป้องผลประโยชน์นักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

๑๙. สองฝ่ายตกลงจะกระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นในสาขานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมและสังคมบนพื้นฐานของความรู้ภายใต้กรอบคณะกรรมการร่วมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย—จีน

๒๐. สองฝ่ายเห็นพ้องจะส่งเสริมการจัดตั้งห้องทดลองและศูนย์วิจัยร่วมในสาขาสำคัญต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน โดยให้สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย และธุรกิจต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้สามารถทำการวิจัยร่วมระดับสูง และส่งเสริมความร่วมมือระยะยาวที่ยั่งยืนได้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมบุคลากรระหว่างกัน รวมถึงการดำเนินการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และส่งเสริมสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไปทำงานในอีกประเทศในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ด้วย

๒๑. สองฝ่ายสนับสนุนการสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีอาเซียน—จีนอย่างกระตือรือร้น ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีนกับไทยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของภูมิภาค

๒๒. สองฝ่ายเห็นพ้องจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการสร้าง เวทีความร่วมมือ กระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างธุรกิจในสาขาการสื่อสารไร้สาย และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และเพิ่มโครงการความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีการบิน การบินอวกาศ และดาวเทียม และการประยุกต์ใช้ รวมทั้งยาชีวภาพ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือทวิภาคี ด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ รวมทั้งพัฒนาเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านการสำรวจดาวเทียมระยะไกล

พลังงาน

๒๓. สองฝ่ายเห็นพ้องจะกระชับความร่วมมือด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ดังนี้ (๑) การพัฒนาและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน) (๒) การพัฒนาการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนการซื้อขาย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง (๓) การพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก และ (๔) ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การเติบโตสีเขียว และการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างทั้งสองประเทศ

มหาสมุทร

๒๔. สองฝ่ายเห็นพ้องจะกระชับความร่วมมือด้านการสำรวจมหาสมุทรและขั้วโลก ส่งเสริมการปฏิบัติการและการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเลที่ จ. ภูเก็ต ประเทศไทย ส่งเสริมการก่อสร้างระบบสำรวจสิ่งแวดล้อมและพยากรณ์สำหรับทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งสนับสนุนแผน ๕ ปีสำหรับความร่วมมือทางทะเลไทย — จีน ระหว่างทบวงกิจการมหาสมุทรของจีนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย (ค.ศ. ๒๐๑๔ — ๒๐๑๘) ฝ่ายจีนยังยินดีให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าร่วมการสำรวจวิจัยขั้วโลกใต้

ความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

๒๕. สองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการประสานและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนกันและกันในด้านกิจการภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

๒๖. สองฝ่ายย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรับมือกับประเด็นด้านความมั่นคงร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus)

          ๒๗. ฝ่ายจีนชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน — จีน     โดยในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน — จีน ทั้งสองฝ่าย    ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันระหว่างอาเซียนกับจีน และกระชับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ รวมถึงร่วมกันยกระดับความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีอาเซียน — จีน  (ACFTA) และใช้ประโยชน์จากกองทุนความร่วมมือทางทะเลอาเซียน — จีนอย่าง มีประสิทธิภาพเพื่อขยายความร่วมมือทางทะเล อันจะนำไปสู่การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน — จีนต่อไป ประเทศไทยรับทราบด้วยความยินดีถึงข้อเสนอของจีนที่ให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย

๒๘. สองฝ่ายเห็นพ้องจะกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบภูมิภาคต่าง ๆ ที่นำโดยอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนบวกสาม (APT) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) เพื่อส่งเสริมกระบวนการรวมตัวในเอเชียตะวันออก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันความร่วมมือข้อริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่ความเป็นพหุพาคี (CMIM) กลไกระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม (APTERR) และหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียนบวกสาม ทั้งสองฝ่ายหวังจะเห็นความสำเร็จในการดำเนินการตามแถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

๒๙. ฝ่ายจีนสนับสนุนความริเริ่มของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง — แม่น้ำโขง

๓๐. ฝ่ายจีนย้ำว่าจะยังคงสนับสนุนการพัฒนาอาเซียน การบรรลุความเป็นประชาคมอาเซียน และวาระหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ของอาเซียน รวมทั้งบทบาทนำของอาเซียนในความร่วมมือในเอเชียตะวันออก

๓๑. สองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าประเด็นทะเลจีนใต้ควรจะได้รับการแก้ไขอย่างสันติ โดยรัฐอธิปไตยที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผ่านการหารือและการเจรจากันอย่างฉันมิตร บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยระหว่างดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน รัฐที่เกี่ยวข้องควรจะ “แยกความแตกต่างไว้ และแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการพัฒนาร่วมกัน” ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ผลักดันการหารือเรื่องแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) บนพื้นฐานของฉันทามติ เพื่อให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ

๓๒. สองฝ่ายตกลงจะเสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก (WTO) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) การประชุมเอเชีย — ยุโรป (ASEM) กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และกลไกภูมิภาคและระหว่างประเทศอื่น ๆ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ