การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษ การค้ามนุษย์

ข่าวต่างประเทศ Monday October 21, 2013 13:19 —กระทรวงการต่างประเทศ

การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษ การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็กเสริมอนุสัญญาฯ

เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ได้ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการยื่นสัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime — UNTOC) และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษ การค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เสริมอนุสัญญาฯ (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children, supplementing the United Nations Convention against Transnational Organization Crime) ต่อผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

การยื่นสัตยาบันสารทั้งสองฉบับจะส่งผลให้ อนุสัญญาฯ และพิธีสารเรื่องการค้ามนุษย์เริ่มมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เป็นต้นไปตามข้อ ๓๘ ของอนุสัญญาฯ และ ข้อ ๑๗ ของพิธีสารฯ

ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เสริมอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๔

อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรเป็นกรอบความร่วมมือทางกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานระดับสากลเกี่ยวกับการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม โดยมีขอบเขตการบังคับใช้ในด้านการป้องกัน การสืบสวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับฐานความผิดที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ๔ ฐาน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด การทุจริตคอรัปชั่น และการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งฐานความผิดร้ายแรงที่อนุสัญญาฯ ได้กำหนดนิยามว่าเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๔ ปีขึ้นไป เมื่อความผิดดังกล่าวมีลักษณะข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ ได้ระบุถึงการให้ความร่วมมือระหว่างรัฐภาคี อาทิ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เรื่องโอนตัวนักโทษ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา

อนึ่ง อนุสัญญาฯ นี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖ โดยในปัจจุบัน (ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖) อนุสัญญาฯ มีภาคี สมาชิกทั้งหมด ๑๗๘ ประเทศ โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ลำดับที่ ๑๗๙

สำหรับพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษ การค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กเสริมอนุสัญญาฯ นั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสตรีและเด็ก โดยพิธีสารฯ นี้ ได้กำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นความผิดทางอาญาและกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น การพิจารณาคดีลับ หรือการจัดให้มีการฟื้นฟูทางกายภาพทางจิตใจและทางสังคม และการกำหนดความร่วมมือในการส่งกลับเหยื่อจากการค้ามนุษย์ไปยังประเทศต้นทาง อนึ่ง พิธีสารฯ มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ ปัจจุบัน (ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖) พิธีสารฯ มีภาคีสมาชิก ๑๕๗ ประเทศ โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ ลำดับที่ ๑๕๘

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นกฎหมายอนุวัติการสำหรับอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็กนับเป็นก้าวสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยในการขอความร่วมมือจากภาคีอื่นๆ ตามอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ในการสืบสวน สอบสวน ติดตามนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อันจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยในอนาคต

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ