การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ ๑๗

ข่าวต่างประเทศ Friday November 14, 2014 13:15 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๕.๒๕ - ๑๖.๔๐ น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ ๑๗ ที่ศูนย์ประชุม Myanmar International Convention Centre1 (MICC-1) ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน

ในการประชุม ผู้นำอาเซียนและจีนได้ทบทวนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียน - จีน (ค.ศ. ๒๐๑๑ - ๒๐๑๕) โดยที่ประชุมยินดีที่จีนได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนอาเซียนในเรื่องการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงในภูมิภาคในทุกมิติ โดยเฉพาะการยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล โดยให้ปี ๒๕๕๘ เป็นปีแห่งความร่วมมือทางทะเลอาเซียน - จีน และข้อริเริ่มเพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑

ในประเด็นทะเลจีนใต้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอย่างสันติวิธีบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเร่งเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งการดำเนินมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะช่วยป้องกันและบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ อาทิ การจัดตั้งสายด่วนระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน-จีน และระหว่างหน่วยงานด้านการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และการฝึกซ้อมในห้องปฏิบัติการด้านการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล

นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน โดยผลักดันประเด็นสำคัญ ดังนี้ (๑) การพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ให้เต็มศักยภาพ ผลักดันให้จีนเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรและเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตร รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร(๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคในทุกมิติ โดยสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนของจีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อเสริมจุดแข็งทางเศรษฐกิจระหว่างกันและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ (๓) การเพิ่มพูนความร่วมมือ แสวงหาโอกาส และจัดการกับปัญหาท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ความสัมพันธ์อาเซียน - จีนเป็นเสาหลักของสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - จีน อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - จีนให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคและประชาชนของทั้งสองฝ่าย

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ