รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกำหนดเข้าร่วม การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - ลาว (JBC) ครั้งที่ ๑๐ และ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย - ลาว ครั้งที่ ๑๙

ข่าวต่างประเทศ Monday January 26, 2015 17:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าในระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ มกราคม ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ครั้งที่ ๑๐ และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย - ลาว ครั้งที่ ๑๙ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายไทย และ ดร. ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายลาว

การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ครั้งที่ ๑๐ แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ โดยฝ่ายไทยมีนายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส และฝ่ายลาวมีนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุมระดับคณะกรรมาธิการ* ในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘

การประชุมครั้งนี้จะมีการหารือกันเพื่อติดตามผลการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ครั้งที่ ๙ รวมทั้งพิจารณาความคืบหน้า และการดำเนินการโดยกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการฯ เช่น คณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม คณะเจ้าหน้าที่อาวุโส และคณะทำงานกฎหมายร่วม เป็นต้น

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย - ลาว ครั้งที่ ๑๙

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย – ลาวเป็นกลไกหลักที่กำกับดูแลภาพรวมความสัมพันธ์ไทย - ลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ให้คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และแก้ไขประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่คั่งค้าง และทบทวนความสัมพันธ์ทวิภาคีในภาพรวม และจะใช้โอกาสนี้ติดตามและสานต่อผลการเยือน สปป.ลาวอย่างเป็นทางการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๗ พ.ย. ๒๕๕๗ ด้วย

ในการประชุม JC ไทย - ลาวครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือ ๔ เรื่องหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาพื้นที่ชายแดนรวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (๒) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและการเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งเส้นทางรถไฟจีน - ลาว - ไทย (๓) การระดมทุนของลาวในตลาดทุนไทยและการพัฒนาตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ของลาว รวมถึงการสนับสนุนด้านวิชาการด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และ (๔) ความร่วมมือด้านแรงงาน การพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวในไทย แรงงานรายวันและตามฤดูกาลตามแนวชายแดน และการจัดทำ smart card สำหรับแรงงานดังกล่าว รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวคิด “ทศวรรษแห่งสายสัมพันธ์ไทย – ลาว” (Decade of Thai - Lao People’s Relations) ด้วย

  • * * * *

๒๐ มกราคม ๒๕๕๘

นอกเหนือจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายไทยแล้ว กรรมาธิการอื่น ๆ ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้ากรมแผนที่ทหาร เจ้ากรมอุทกศาสตร์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้แทนกรมการปกครอง ในส่วนของฝ่ายลาว นอกจากประธานคณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายลาวแล้ว คณะกรรมาธิการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงป้องกันประเทศ (กลาโหม) และกระทรวงป้องกันความสงบ (มหาดไทย) เป็นต้น

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ