พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๗

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 29, 2015 14:18 —กระทรวงการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันพุธที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพร้อมคู่สมรส ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่ง

บรมราชสถิตยมโหฬาร เวลา ๑๙.๓๐ น.

สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ นั้น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พิจารณากลั่นกรองจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม ๓ ปี (ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗) รวม ๑๗๗ คน โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อในปี ๒๕๕๗ จำนวน ๕๙ คน จาก ๒๕ ประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ ได้พิจารณาและมีมติตัดสินมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๗ ให้แก่บุคคล ดังนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. อากิระ เอ็นโด (Professor Akira Endo) จากญี่ปุ่น และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน ( Professor Donald A. Henderson) จากสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร. อากิระ เอ็นโด เป็นบุคคลแรกที่ค้นพบยาลดไขมันที่มีชื่อว่า คอมแพคติน (compactin) ให้ชื่อในครั้งแรกว่า ML-๒๓๖ B ซึ่งเป็นต้นแบบของยากลุ่มสแตติน โดยแยกได้จากเชื้อราเพนนิซิเลียม ซิตรินุม (penicillium citrinum) เมื่อปี ๒๕๑๙ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคหลอดเลือดที่สำคัญชนิดอื่นด้วย เนื่องจากพบว่าการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีความสัมพันธ์กับภาวะไขมันในเลือดสูง การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของยาลดไขมันกลุ่มสแตตินถึง ๗ ชนิด ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างมาก ถือเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและช่วยชีวิตผู้ป่วยนับร้อยล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจุบัน ศาสตราจารย์อากิระ เอ็นโด ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทห้องปฏิบัติการวิจัยไบโอฟาร์ม และศาสตราจารย์พิศิษฐ์เกียรติคุณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์นายแพทย์ โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน เป็นหัวหน้าคณะแพทย์ในโครงการกวาดล้างโรคไข้ทรพิษขององค์การอนามัยโลก ระหว่างปี ๒๕๐๙ – ๒๕๒๐ โดยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานทั่วโลกในการรณรงค์กวาดล้างโรคไข้ทรพิษ โดยการให้วัคซีนแก่ประชากรทุกกลุ่มในลักษณะที่เรียกว่า mass vaccination และติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนประสบความสำเร็จ และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคไข้ทรพิษถูกกวาดล้างหมดสิ้นไปจากโลก เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นการช่วยชีวิตประชากรโลกจำนวนหลายร้อยล้านคน และยังเป็นแบบอย่างของการพัฒนาแนวทางกวาดล้างโรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชาน ศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก และคณบดีเกียรติคุณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๘ ในหัวข้อ "สุขภาพโลกหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ เร่งรัดสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ" ณ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งการประชุมวิชาการฯ เป็นการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับประเด็นการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความสำคัญระดับโลก เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายของนักวิชาการ นักวิจัย และผู้บริหารด้านการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประชาคมโลก โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายการประชุมในหัวข้อ "Foreign Policy Interests in Global Health" ในเวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. และร่วมเป็นผู้อภิปรายในช่วงการสรุปการประชุมวิชาการฯ ในเวลา ๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ น. ของวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘

อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และด้านการสาธารณสุข ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

โดยระยะเวลา ๒๓ ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น ๖๘ ราย ในจำนวนนี้ มี ๒ รายที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่ เจมส์ มาร์แชล รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๔ ต่อมารับรางวัลโนเบล ปี ๒๕๔๘ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๘ และรับรางวัลโนเบล ปี ๒๕๕๑ และมี ๑ รายที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมา คือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมแด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๙ และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๔ ราย คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๓๙ และนายแพทย์ วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๕๒

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ