การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

ข่าวต่างประเทศ Monday April 27, 2015 10:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกของปีภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย โดยนอกจากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียน ในรูปแบบของการประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary) และการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ผู้นำอาเซียนจะหารือกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เยาวชนอาเซียน และองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งนี้ หัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุมครั้งนี้ คือ “ประชาชนของเรา ประชาคมของเรา วิสัยทัศน์ของเรา” (Our People, Our Community, Our Vision)

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนพัฒนาการและติดตามความคืบหน้าการทำงานของอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา พิจารณา แลกเปลี่ยนความเห็น และผลักดันประเด็นและนโยบายที่เกี่ยวกับการเร่งรัดเพื่อให้บรรลุประชาคมอาเซียนภายในปี ๒๕๕๘ และการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ.๒๕๖๘ ตลอดจนประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ และโรคติดต่อ เป็นต้น

ประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ได้แก่ การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกฎกติกาและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การส่งเสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากความเชื่อมโยงและ

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง และการส่งเสริมความเป็นแกนกลาง (Centrality) ของอาเซียนในภูมิภาคและในโลก รวมทั้งบทบาทไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – จีน

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ มาเลเซียได้เสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองเอกสารผลลัพธ์หลักสามฉบับ ได้แก่ ๑) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Kuala Lumpur Declaration on People-Centred ASEAN) ๒) ปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยขบวนการผู้ยึดถือทางสายกลางระดับโลก (Langkawi Declaration on Global Movement of Moderates) และ ๓) ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างประชาคม และประชาชนอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง รู้รับ ปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ (Declaration on Institutionalising the Resilience of ASEAN and Its Communities and Peoples to Disasters and Climate Change) นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสของการประชุมนี้หารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ด้วย

ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ ๙ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยมีนายโจโก วิโดโด้ (Mr. Joko Widodo) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ตุน ราซัก (Dato’ Sri Mohammad Najib Tun Abdul Razak) นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย นายสตีเฟน กรอฟ (Mr. Stephen Groff) รองประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และนาย เล เลือง มินห์ (Mr. Le Luong Minh) เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เข้าร่วมการประชุมด้วย

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ