สรุปผลการประชุมนานาชาติ Bangkok Symposium on Landmine Victim Assistance วันที่ ๑๔ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 2, 2015 16:04 —กระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะกรรมการด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ

The Bangkok Symposium on Landmine Victim Assistance: Enhancing a Comprehensive and Sustainable Mine Action ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อภารกิจตามเจตนารมณ์ของแถลงการณ์มาปูโต+๑๕ (Maputo+15 Declaration) และการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการมาปูโต (Maputo Action Plan) อันเป็นผลลัพธ์จากการประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในปี ๒๕๕๗ ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ เสมอภาค และมีประสิทธิผล โดยมีแนวทางการดำเนินการที่ครอบคลุม หลากหลายมิติ มีผลในระยะยาว และยั่งยืน เนื่องจากพันธกรณีที่รัฐภาคีของอนุสัญญามีต่อผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเกี่ยวพันกับประเด็นสำคัญด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม การศึกษา การจ้างงาน การพัฒนา และการลดความยากจน โดยการประชุมนานาชาติครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน จาก ๓๔ ประเทศ และองค์การของสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคมรวม ๙ หน่วยงาน

ในการประชุมช่วงที่ ๑ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ เผชิญในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการมาปูโตและแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (ในกรอบอนุสัญญาห้ามระเบิดพวง) และหารือเกี่ยวกับวิธีก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าว การประชุมช่วงที่ ๒ เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับมิติต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดอย่างรอบด้าน และในการประชุมช่วงที่ ๓ เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการนำผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด รวมถึงผู้พิการโดยทั่วไป กลับเข้าสู่สังคม

ผู้ดำเนินรายการในการประชุม คือ นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และวิทยากรในการประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายเลขานุการ (Implementation Support Unit) ของอนุสัญญา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights) คณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) และส่วนราชการไทยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยและนานาชาติ

ในภาพรวม ผู้เข้าร่วมการประชุมเน้นย้ำว่า เจตนารมณ์ทางการเมืองและความเป็นผู้นำในระดับสูงสุดเป็นปัจจัยจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นองค์รวมโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมทั้งหมดร่วมมือกัน การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดยังควรอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิ โดยมองว่าผู้ประสบภัยเป็นผู้มีสิทธิ ในขณะที่รัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่สนองสิทธินั้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประสบภัยในสังคมอย่างเสมอภาคและมีเกียรติ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและองค์ความรู้ และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและความร่วมมือแบบไตรภาคี (south-south and triangular cooperation)

ผู้เข้าร่วมการประชุมและวิทยากรบางส่วนได้เดินทางไปยังจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตกค้างในประเทศไทย โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์และการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดที่โรงพยาบาลสุรินทร์ และยังได้ศึกษาดูงานการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในสนามทุ่นระเบิดในพื้นที่อำเภอบัวเชด ซึ่งอยู่ระหว่างการเก็บกู้ทุ่นระเบิดโดยสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (TDA) ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


แท็ก bangkok   ICT  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ