คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเข้าพบหารือผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Friday April 8, 2016 12:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๙ คณะเอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรป นำโดยนางลุยซา ราเกย์ อุปทูตและรองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตและอุปทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จำนวน ๑๘ ประเทศ ได้เข้าพบกับนายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยมีผู้แทนกรมยุโรป กรมองค์การระหว่างประเทศ และกรมสารนิเทศ เข้าร่วมด้วย

ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างสร้างสรรค์ มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจง ดังนี้

๑. รัฐบาลไทยยึดมั่นการดำเนินการตาม Roadmap โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม Roadmap เพื่อการลงประชามติ ซึ่งในชั้นนี้กำหนดเป็นวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในปี ๒๕๖๐

๒. การร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม และรัฐบาลมีความชัดเจนในการนำพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย โดยขณะนี้ การร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อการลงประชามติ โดยในระหว่างนี้ รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีเป้าหมายคือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

๓. ในประเด็นสิทธิมนุษยชนและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๑๓/๒๕๕๙ ขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยการดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย มีความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ยึดหลักนิติธรรม รวมถึงมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ คำสั่ง คสช. ที่ ๑๓/๒๕๕๙ มีเจตนารมย์และสาระสำคัญเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพลและผู้กระทำการอันเป็นภัยต่อสังคม เช่น ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ซึ่งกระบวนและขั้นตอนการติดตามจับกุมโดยปกติทำได้ล่าช้า มีความเสี่ยง และอาจเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ส่งผลให้กลุ่มผู้กระทำผิดจำนวนหนึ่งไม่เคยถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คำสั่งฉบับนี้จะช่วยสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถปกป้องดูแลประชาชนผู้บริสุทธิ์ และนำผู้กระทำผิดขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดยผลการตัดสินคดีจะขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของศาล

๔. สำหรับแนวคิดการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์สำหรับผู้นำ หรือแกนนำประชาชนทั่วไปนั้น ฝ่ายไทยยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ความปรองดองภายในประเทศ โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการดำเนินการอย่างสุภาพชน ไม่มีการใช้ความรุนแรงและอาจมีการเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

๕. ไทยมีความพร้อมที่จะปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ องค์การระหว่างประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ และพร้อมเปิดรับฟังคำแนะนำและข้อคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ และยินดีที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศให้ข้อเสนอแนะอย่างฉันมิตร และได้พยายามมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการดำเนินการตาม Roadmap ของไทย ในการนี้ ฝ่ายไทยเน้นย้ำว่า สถานเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปในประเทศไทยต่างรู้ถึงสถานการณ์ในไทยดีที่สุด จึงหวังว่าจะรับฟังข้อมูลและความเห็นจากทั้งสองด้านเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือที่ใกล้ชิดและผลประโยชน์ร่วมกัน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ