คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมนำเสนอรายงานประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา

ข่าวต่างประเทศ Monday May 9, 2016 11:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะผู้แทนไทยนำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดจะนำเสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ในการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕

กระบวนการ UPR เป็นกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในรูปแบบของการทบทวนโดยรัฐกันเอง (peer review) ซึ่งแต่ละรัฐจะรับฟังข้อเสนอแนะจากรัฐอื่นๆ โดยพิจารณาตอบรับข้อเสนอแนะ รวมถึงประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ และนำมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในประเทศ อีกทั้งรายงานผลการดำเนินการให้แก่คณะทำงาน UPR ทราบทุก ๔ ปีครึ่ง

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับกระบวนการ UPR เนื่องจากเป็นกลไกที่สร้างสรรค์สมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศเข้าร่วมรายงานอย่างเท่าเทียม ไม่มีข้อยกเว้น และมีโอกาสให้ข้อคิดเห็นกับประเทศอื่น ๆ ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานรอบที่ ๑ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ โดยได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปฏิบัติทั้งสิ้น ๑๓๔ ข้อ และประกาศคำมั่นโดยสมัครใจอีก ๘ ข้อ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าช่วงกลางรอบเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ โดยสมัครใจ

ประเทศไทยได้ส่งรายงานประเทศตามกลไก UPR รอบที่ ๒ ให้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยรายงานดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการจัดทำโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงได้รับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคม หารือรับฟังความเห็นในต่างจังหวัด รายงานมีสาระครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอย่างครอบคลุม ทั้งในส่วนของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิของกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยนำเสนอทั้งพัฒนาการ ความสำเร็จ ความท้าทาย และทิศทางในอนาคต (สามารถอ่านรายงานได้ที่ http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/THSession25.aspx )

ในการนำเสนอรายงานรอบนี้ คณะผู้แทนไทยพร้อมไปรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากมิตรประเทศที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ