การประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๓ วันที่ ๑๕ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 25, 2017 15:32 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย กล่าวเปิดการประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๓ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยได้กล่าวถึงความผูกพันระหว่างประเทศไทยกับเอสแคปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่เอสแคปตั้งสำนักเลขาธิการในประเทศไทยเมื่อช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ และได้กล่าวขอบคุณในนามรัฐบาลไทยต่อนางชามฉัด อัคตาร์ เลขาธิการบริหารเอสแคป รวมทั้งขอบคุณผู้นำประเทศที่ได้แสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่เอสแคปครบรอบ ๗๐ ปีของการก่อตั้งในปีนี้ พร้อมย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะสนับสนุนการทำงานของเอสแคปเพื่อจัดการความท้าทายในภูมิภาค โดยเห็นว่าเอสแคปสามารถเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ผ่านความร่วมมือใต้ – ใต้ และไตรภาคี ทั้งนี้ ในช่วงพิธีเปิดการประชุม เอสแคปได้ฉายวิดีทัศน์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา ซึ่งได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยต่อที่ประชุมเต็มคณะ โดยได้ระบุถึงความสำคัญของการรวมตัวและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ทั่วถึงและยั่งยืน และนำเสนอประสบการณ์ของไทยตามที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นแนวนโยบายในรัฐธรรมนูญ อาทิ การปฏิรูประบบภาษี การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การพัฒนาการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ แนวทางการพัฒนาชุมชนและ SMEs โครงการ “เน็ตประชารัฐ” โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนภายใต้กลไกประชารัฐทางด้านการศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นการ “ระเบิดจากภายใน” ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนได้เช่นกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวถึงบทบาทของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ในกรอบทวิภาคี คือ SEP for SDGs Partnership และกรอบพหุภาคี คือ การเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบอาเซียน ACD CICA ASEM และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค

อนึ่ง การประชุมประจำปีของเอสแคปเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ๕๓ ประเทศและสมาชิกสมทบ ๙ ดินแดน/เขตปกครอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอนุมัติแผนงานของสำนักเลขาธิการเอสแคป โดยในปีนี้ มีผู้แทนระดับประมุขและหัวหน้ารัฐบาลเข้าร่วมด้วยหลายประเทศนอกจากผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประธานาธิบดีปาเลา ประธานาธิบดีนาอูรู ประธานาธิบดีหมู่เกาะมาร์แชลล์ นายกรัฐมนตรีตูวาลู และนายกรัฐมนตรีตองกา หัวข้อหลักของการประชุม คือ ความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน (Regional cooperation for sustainable energy) โดยประเทศไทยได้ใช้โอกาสการประชุมครั้งนี้แสดงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับสหประชาชาติและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการดำเนินความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมทั้งผลักดันประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ อาทิ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การดำเนินความร่วมมือใต้ - ใต้และไตรภาคี ซึ่งที่ประชุมได้รับรองข้อมติเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือในการอนุวัติกรอบเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่เสนอโดยไทยและมองโกเลีย โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักการกรุงเทพฯ ว่าด้วยการอนุวัติประเด็นสาธารณสุขในกรอบเซนไดฯ การเชื่อมโยงกรอบเซนไดฯ และวาระการพัฒนาระดับโลกที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานสหประชาชาติ และการพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะด้านสถิติที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ