การดำเนินการของรัฐบาลซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่สะท้อนผ่านเวทีปรองดองทั่วประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Monday July 17, 2017 13:40 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่หัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งที่ ๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ ตั้งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในกรอบของการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และต่อมาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม ๔ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (คณะอนุฯ ๑) คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (คณะอนุฯ ๒) คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (คณะอนุฯ ๓) และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (คณะอนุฯ ๔) นั้น

กระทรวงการต่างประเทศได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นในส่วนการยกร่างเอกสารความเห็นร่วมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ ดังนี้

๑. ระหว่างวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ – ๕ เมษายน ๒๕๖๐ คณะอนุฯ ๑ ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นรวมกว่า ๑๕,๖๙๒ คน และคณะอนุฯ ๒ ได้นำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยระบุประเด็น ๑๐ ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ด้านสื่อมวลชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการต่างประเทศ ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น ด้านการปฏิรูป และด้านยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี และต่อมา ที่ประชุมกลุ่มย่อยในทุกภูมิภาคได้มีโอกาสฟังความคิดเห็นต่อร่างเอกสารฯ ระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน – ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐

๒. คณะอนุฯ ๓ ได้ยกร่างสัญญาประชาคมจากเอกสารความเห็นร่วมฯ และอยู่ระหว่างการจัดเวทีสาธารณะทั่วทุกภาคของไทยเพื่อชี้แจงการดำเนินการที่ผ่านมา โดยคาดว่า กระบวนการจะเสร็จสิ้นและสามารถประกาศสัญญาประชาคมได้ในเดือนสิงหาคม – กันยายน ๒๕๖๐

๓. ในด้านการต่างประเทศ จากข้อมูลปัญหาและความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมที่ร่วมกันสะท้อนผ่านเวทีปรองดอง โดยการรับฟังของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีประเด็นที่รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และสามารถดำเนินการได้ทันที โดยใช้กลไกตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้

๓.๑ ด้านการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน – รัฐบาลปรับแก้กฎหมายเป็นจำนวนมากเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ กองทุนยุติธรรม ภาวะไร้รัฐ และไร้สัญชาติ ตลอดจนการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

๓.๒ ด้านการเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ – รัฐบาลเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับนานาประเทศในภาพรวม และกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกมิติ ส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก โดยในช่วงปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นทางการแล้ว ๑๓ ประเทศ และร่วมการประชุมระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก ซึ่งครอบคลุมการดำเนินโครงการพัฒนา การจัดหลักสูตรอบรม และการมอบทุนการศึกษาปริญญาโท - เอก เพื่อร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

๓.๓ การดำเนินการตามกฎหมายและกฎกติการะหว่างประเทศ – ไทยได้รายงานความคืบหน้าในด้านสิทธิมนุษยชนตามกลไกที่สอดคล้องกับพันธกรณีที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ อาทิ สิทธิของคนพิการ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิแรงงาน

๓.๔ การชี้แจงข้อมูลกับต่างประเทศและสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน – กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายแผนการดำเนินงานของรัฐบาล พัฒนาการตาม Roadmap และพัฒนาการทางการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านเวทีการประชุม การเยือน การหารือในโอกาสต่าง ๆ การบรรยายสรุปให้แก่คณะทูตในประเทศไทย การชี้แจงผ่านทางเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก การเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ วิทยุ เว็ปไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตราแกรม ไลน์ วารสาร/จดหมายข่าว และโครงการสัญจรในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่องานด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติต่างประเทศ

๓.๕ ใช้ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในการเจรจาหารือกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ – รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจจากภายในและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น วาระประเทศไทย ๔.๐ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การแก้ไข พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน การขยายช่องทางการตลาด E-Commerce และการช่วยภาคเอกชนแสวงหาโอกาสขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ได้มุ่งสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยน้อมนำและเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวทางที่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ