การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 20, 2010 07:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 8 - 9 เมษายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสาธารณสังคมนิยมเวียดนาม กรุงฮานอย สรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ได้ดังนี้

1. ผู้นำอาเซียนได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะการแปลงวิสัยทัศน์ต่าง ๆ ที่ผู้นำเคยตกลงกันไว้ให้เป็นการปฏิบัติที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในโครงสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาค (regional architecture) และแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ภายใต้หัวข้อหลักว่า ‘มุ่งสู่ประชาคมอาเซียน : จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ’ (Towards the ASEAN Community : From Vision to Action)

2. ในระหว่างการประชุม นอกจากการเข้าเยี่ยมคารวะนายเหวียน มิน เจียต ประธานาธิบดีเวียดนาม ร่วมกับผู้นำอาเซียนอื่นๆ แล้ว รัฐมนตรีกษิตฯ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับนายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวกับแนวทางในการเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยเฉพาะรูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และรัสเซีย

3. รัฐมนตรีกษิตฯ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศไทย และแสดงความเสียใจที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ ได้ อย่างไรก็ตาม ก็ได้ยืนยันว่าไทยจะมีบทบาทอย่างแข็งขันในการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนต่อไป และพร้อมที่จะสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของเวียดนามอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเข้าใจต่อสถานการณ์และการดำเนินการของรัฐบาลไทย โดยผู้นำหลายประเทศได้แสดงความปรารถนาดีให้นายกรัฐมนตรีสามารถคลี่คลายสถานการณ์ด้วยดี

4. ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีกษิตฯ ได้ร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของกฎบัตรอาเซียนและเข้าร่วมพิธีฉลองในวาระที่มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและสิทธิสตรีอาเซียน (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children — ACWC) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีกฎกติกาในการทำงานและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

5. รัฐมนตรีกษิตฯ ให้ทัศนะต่อที่ประชุมว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องการเสริมสร้างธรรมาภิบาล การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก ในขณะที่การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาจะต้องไม่เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องครอบคลุมถึงมิติด้านการเมืองและความมั่นคง โดยเฉพาะการเสริมสร้างสันติภาพด้วย

6. ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และรัสเซียโดยจะต้องพิจารณารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมต่อไป โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้ทัศนะว่า หากประเทศสมาชิกเห็นความจำเป็น ก็น่าจะพิจารณาเชิญทั้งสองประเทศเข้าร่วมโดยไม่ต้องรอให้แสดงความจำนงค์

7. ที่ประชุมรับทราบรายงานเบื้องต้นของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการเชื่อมโยงในอาเซียน และย้ำว่า การจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาค (Master Plan on ASEAN Connectivity) มีความสำคัญต่อการรักษาบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาค จึงขอให้คณะทำงานระดับสูงฯ เร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทฯ ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดฯ ครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม 2553 โดยหลายประเทศเห็นว่า ผลของการเดินทางสำรวจเส้นทางเชื่อมโยงทางบกและพื้นที่รอบทางหลวงหมายเลข 9 จากมุกดาหาร—สะหวันนะเขต—เว้—ดานัง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนเมื่อเดือนมกราคม 2553 ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

8. รัฐมนตรีกษิตฯ ได้ชี้แจงแนวนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green economy) การสร้างงานและให้สวัสดิการแก่ประชาชน และในระดับภูมิภาค เห็นว่า อาเซียนควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

9. ที่ประชุมเห็นชอบให้สลับวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนระหว่างบรูไนกับอินโดนีเซีย เป็นผลให้อินโดนีเซีย กัมพูชา และบรูไน จะดำรงตำแหน่งประธานในปี 2554 2555 และ 2556 ตามลำดับ อีกทั้งยังได้เห็นชอบในหลักการให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษในปี 2555 เพื่อฉลองวาระครบรอบ 10 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย โดยให้รัฐมนตรีต่างประเทศร่วมกันพิจารณาประเด็นด้านสารัตถะเพื่อให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ