รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 11, 2012 12:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2555

Summary:

1. ผักแพง ผลจากสภาพอากาศแปรปรวน

2. สศก.ปลื้มส่งออกเกษตร-อาหารโตต่อเนื่อง

3. ญี่ปุ่นเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ต.ค.55 ลดลง 29.4% หลังส่งออกอ่อนตัว

Highlight:

1. ผักแพง ผลจากสภาพอากาศแปรปรวน
  • ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ราคาผักสดหลายชนิดปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะผักคะน้า ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ซึ่งเป็นผักที่ประชาชนนิยมบริโภค มีราคาแพงผิดปกติ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยจากการสำรวจราคาล่าสุด ผักคะน้าอยู่ที่ 50-60 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 30-35 บาท/กก. ผักบุ้งจีน 45-50 บาท/กก. เพิ่มจาก 18-25 บาท/กก. ผักกวางตุ้ง 40-45 บาท/กก. เพิ่มจาก 25-28 บาท/กก. ผักกาดขาวปลี 35-40 บาท/กก. เพิ่มจาก 18-28 บาท/กก. กะหล่ำปลี 18-20 บาท/กก. เพิ่มจาก 10-18 บาท/กก. และผักชี 250-260 บาท/กก. เพิ่มจาก 160-170 บาท/กก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดสภาวะภูมิอากาศที่ร้อนจัดและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร โดยเฉพาะผักสดที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และส่งผลให้ราคาผักในท้องตลาดแพงขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาผักสด ดังกล่าวจะส่งแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาผักและผลไม้มีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.90 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-3.5 และสำหรับปี 56 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 - 4.0 (คาดการณ์ ณ ก.ย.55)
2. สศก. ปลื้มส่งออกเกษตร-อาหารโตต่อเนื่อง
  • เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในการประชุม คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ว่า สศก. ได้ประเมินผลการดำเนินยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553-2556 พบว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยเพิ่มขึ้นจาก 776,677 ล้านบาท ในปี 2552 เป็น 987,515 ล้านบาท ในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 ในเวลา 3 ปี จนได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ทำให้ปริมาณการตีกลับสินค้าส่งออกลดลง เช่น กุ้งที่ส่งออกไปญี่ปุ่นหรือผลไม้ที่ส่งออกไปยังจีนมีอัตราการสุ่มตรวจลดลง
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การพัฒนาคุณภาพสินค้าตามแผนยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารจะเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้สูงขึ้น ทำให้คุณภาพของสินค้าอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนั้น เมื่อสินค้าเกษตรมีมาตรฐานก็จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่ลดลงจากการใช้สารเคมีลดลง และขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นผลดีต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2555 ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจากกลุ่มสหภาพยุโรป ประกอบกับการระบายข้าวจากโครงการจำนำข้าวยังมีไม่มากนัก ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยโดยรวมให้ขยายตัวได้ต่ำเพียงร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ สศค.คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2555 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5
3. ญี่ปุ่นเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ต.ค.55 ลดลง 29.4% หลังส่งออกอ่อนตัว
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นเดือน ต.ค. ร่วงลง 29.4% จากระดับปีที่แล้ว แตะ 3.76 แสนล้านเยน เนื่องจากการส่งออกที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง โดยยอดเกินดุลของดุลชำระต่างประเทศลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากปัจจัยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ดุลการค้าขาดดุล 4.50 แสนล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราการเติบโตของ Real GDP ในไตรมาส 3 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ลดลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันสัญญาณทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ยังคงไม่ดีนัก เมื่อพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 55 ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่าสุดในรอบ 19 เดือน ที่ระดับ 46.5 จุด โดยเป็นผลจากภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและอุปสงค์ในประเทศที่ อ่อนแอเป็นสาคัญ ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วงร้อยละ 0-0.1

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ