รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 4, 2013 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 มกราคม 2556

Summary:

1. กระทรวงอุตฯไทยตั้งเป้าSMEญี่ปุ่นลงทุนในปี 56-57 เพิ่มร้อยละ 5.0

2. ดัชนีผุ้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน เดือน ธ.ค. 55 สูงสุดในรอบ 4 เดือน

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 55 กลับมาสูงกว่าระดับ 50

Highlight:

1. กระทรวงอุตฯไทยตั้งเป้า SME ญี่ปุ่นลงทุนในปี 56-57 เพิ่มร้อยละ 5.0
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แต่งตั้งคณะทำงานชักจูงการลงทุนและเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น และเอสเอ็มอีไทย โดยมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่ชักจูงการลงทุนและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในกลุ่มผู้รับช่วงการผลิต (Tier 2 และTier 3) ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเน้นกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าการขยายการลงทุนของเอสเอ็มอีญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มร้อยละ 5.0 ในปี 56-57 และเน้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (สิ้นสุดในเดือน พ.ย. 56)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้จากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นมายังไทยใน 10 เดือนแรกปี 55 ที่ร้อยละ 66.4 ของการลงทุนโดยตรงรวม โดยเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักที่ร้อยละ 45.6 และ 25.6 ของการลงทุนรวม ตามลำดับ (ข้อมูล ณ ม.ค. - ต.ค. 55) ผนวกกับต้นทุนการผลิตในประเทศญี่ปุ่นเองที่สูงขึ้น จากทั้งปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินเยน และอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้SMEญี่ปุ่นมีแนวโน้มเปลี่ยนฐานการผลิตออกนอกประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ การจัดโครงการดังกล่าวแสดงถึงความสนใจและความพร้อมของไทยต่อการลงทุนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีต่อไทยในพัฒนาขีดความสามารถทั้งทางด้านการผลิตและการแข่งขันของSMEไทยให้สูงขึ้นผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ จากญี่ปุ่น
2. ดัชนีผุ้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน (NBS Service PMI) เดือน ธ.ค. 55 สูงสุดในรอบ 4 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) ประกาศเครื่องชี้เศรษฐกิจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service Purchasing Manager Index) เดือน ธ.ค. 55 โดยดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือน ที่ระดับ 56.1 จุด สะท้อนการขยายตัวของภาคบริการซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีนในเดือนดังกล่าวที่มีแนวโน้มเชิงบวกนั้นสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ของจีนในเดือนเดียวกันที่ดีขึ้น อาทิ ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จุดที่ระดับ 50.6 เป็นต้น ทั้งนี้ ในรายละเอียด ดัชนีดังกล่าวที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้มาจากภาพรวมของภาคบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.8 จุดเป็นระดับ 52.5 จุด และดัชนีราคาค่าบริการที่กลับมาอยู่ที่ระดับ 50.0 เพิ่มจากระดับ 48.4 ในเดือนก่อน อีกทั้งดัชนีการจ้างงานในภาคบริการก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นกัน ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 4 ปี 55 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 7.8 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 55)
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM Mfg PMI) เดือน ธ.ค. 55 กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50
  • สถาบันบริหารอุปทาน (Institute for Supply Management) เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM Mfg PMI) เดือน ธ.ค. 55 โดยดัชนีฯ กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 อีกครั้งที่ระดับ 50.7 จุด จากระดับ 49.5 จุดในเดือนก่อนหน้า ผลจากดัชนีคำสั่งสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิต และดัชนีการจ้างงานที่ขยายตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ แสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตามที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาอยู่เกินระดับ 50 จุดในเดือน ธ.ค. 55 บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม หลังจากดัชนีฯ ตกลงในระดับต่ำกว่า 50 ในเดือนก่อนหน้า ผลจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาหน้าผาการคลัง ตลอดจนผลจากเฮอริเคนแซนดี้ที่เข้าถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. 55 อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และดัชนีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเครื่องชี้อย่างดีว่าการฟื้นตัวในครั้งนี้เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณชัดเจนขึ้น และสอดคล้องกับคาดการณ์การขยายตัวร้อยละ 2.2-2.4 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 55 ที่ผ่านมา
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงจากการเจรจาตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่ยังไม่มีความชัดเจน ตลอดจนระดับหนี้สาธารณะที่กำลังจะชนเพดานหนี้ปัจจุบันที่ระดับ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเดือนก.พ.-มี.ค. 56 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการเจรจาอาจมีความยืดเยื้อและมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องใกล้เคียงกับการเจรจาเพดานหนี้ในปี 54 และการเจรจาประเด็นหน้าผาทางการคลังที่ผ่านมา และอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในไตรมาส 1 ปี 56 นี้ได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ