รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 20, 2013 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. ครม. เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยัน โครงการรถไฟความเร็วสูงคุ้มค่า

3. GDP ชาติสมาชิก OECD ในไตรมาสที่ 3 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.5

Highlight:

1. ครม. เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา) โดยมีสาระสำคัญคือ การปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุดร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ.2557
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีที่สำคัญของไทยเนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะส่งผลให้ฐานภาษีแคบลง (การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่เสรีมากขึ้นทำให้การจัดเก็บภาษียากขึ้น) อีกทั้งการจัดเก็บรายได้โดยภาพรวมของไทยก็อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจาก Revenue to GDP อยู่ที่ร้อยละ 19 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม ASEAN และค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยดึงดูดผู้มีรายได้ให้เข้าสู่ระบบฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น (ป้จจุบันมีผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระบบประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ได้มากขึ้น โดยล่าสุด รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีงบประมาณ 2556 รวม 299.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในเดือน ต.ค. 56 จัดเก็บรายได้ 22.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยัน โครงการรถไฟความเร็วสูงคุ้มค่า
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกรณีที่ ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ - หัวหิน ไม่คุ้มค่าว่า กระทรวงฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน โดยเชื่อว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะช่วยให้ระบบขนส่งมวลชนของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งเชิงเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการจ้างงาน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศในภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 นอกจากนี้ การเชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมของประเทศยังเป็นการกระจายความมั่งคั่งสู่ชุมชนทั่วทั้งประเทศด้วย ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศจะส่งผลให้ Real GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 ต่อปี จากกรณีฐาน (ที่ไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน) นอกจากนี้ การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมีเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย 1) ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ ต่อ GDP ของประเทศลดลงจากปัจจุบันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 (ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ ต่อ GDP ประมาณร้อยละ 15.2) 2) สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลงจากร้อยละ 59 เหลือร้อยละ 40 และ 3) ลดความสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท ต่อปี
3. GDP ชาติสมาชิก OECD ในไตรมาสที่ 3 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.5
  • องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของประเทศสมาชิกปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.5 ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 56 ทรงตัวจากช่วงไตรมาส 2 เป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวในยูโรโซนและญี่ปุ่น ซึ่งมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วขึ้นในสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอและเปราะบาง และความเป็นไปได้ที่แรงกดดัน ด้านเงินเฟ้อจะไม่รุนแรง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจบันประเทศสมาชิก OECD 35 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 63.8 ของเศรษฐกิจโลก โดยประเทศสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศ OECD มีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 35.3 ของเศรษฐกิจ OECD รองลงมาได้แก่ Euro area และประเทศญี่ปุ่น ที่มีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 26.2 และ 9.7 ของเศรษฐกิจ OECD ตามลำดับ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 56 เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) Euro area และประเทศญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 และ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สะท้อนว่าเศรษฐกิจของ OECD ขยายตัวในอัตรา ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิก OECD ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่น การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารสหภาพยุโรป (ECB ) ลงจากร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปีและต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. 56 ของสหรัฐฯอยู่ที่ระดับ 56.4 จุดปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.2 จุดและเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 เดือนผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ดัชนีการผลิตดัชนีสินค้าคงคลังและดัชนีการจ้างงานขยายตัวเร่งขึ้น เป็นต้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ