รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 4, 2014 11:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 เมษายน 2557

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มี.ค. 57 ลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปี

2. บริษัท CBRE คาดภาคอสังหาริมทรัพย์เวียดนามจะฟื้นตัวในปี 59 จากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยาก

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน ในเดือน มี.ค. 57 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน

Highlight:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มี.ค. 57 ลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปี
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีที่ระดับ 58.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และลดลงจากระดับ 59.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ความเห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงดังกล่าว เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคมีคงวามกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเมือง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 57 ขณะที่มีความล่าช้าในการจ่ายเงินในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ลดลงดังกล่าว บ่งชี้ถึงแนวโน้มอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้ด้านการบริโภค อาทิ ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.พ. 57 ที่กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกในปี 57 ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของ G-3 ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดย สศค. ได้คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 57 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.1-3.1)
2. บริษัท CBRE คาดภาคอสังหาริมทรัพย์เวียดนามจะฟื้นตัวในปี 59 จากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยาก
  • บริษัท CBRE คาดการณ์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามจะยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในปี 58 แต่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในปี 59 หลังจากซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังปี 52 จากสถิติของบริษัท CBRE ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 จำนวนคอนโดมีเนียมในกรุงฮานอยที่ขายได้มีจำนวนเพียง 1,500 ยูนิต ซึ่งแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจาก 2 ปีก่อนที่ขายได้เพียง 279 ยูนิต แต่ก็ยังห่างไกลจากยอดขายในปี 52 ที่สามารถขายได้ถึง 15,000 ยูนิต เนื่องจากปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดการให้สินเชื่อ ประกอบกับผู้บริโภคยังคงกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหา NPLs ในภาคการธนาคารถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทางการเวียดนามต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ ตัวเลขสัดส่วนของ NPLs ต่อยอดรวมสินเชื่อทั้งหมดยังไม่แน่ชัด กล่าวคือ ในเดือน ก.พ. 57 บริษัท Moody's ได้ประกาศว่าสัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารเวียดนามอาจสูงถึงราวร้อยละ 15 ของยอดรวมสินเชื่อทั้งหมด แต่ต่อมาทางการเวียดนามได้ออกมาคัดค้านว่าสัดส่วนของ NPL คิดเป็นเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ทั้งนี้ ทางการเวียดนามได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการจัดตั้งบริษัทเพื่อจัดการซื้อหนี้เสียในระบบ อีกทั้งล่าสุดธนาคารกลางเวียดนามได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 7.00 เป็นร้อยละ 6.50 อีกทั้งเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2013 ที่ร้อยละ12.0 ขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ปัญหา NPLs จึงอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เวียดนามยังคงซบเซา อย่างไรก็ตาม ปัญหา NPLs ถือเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในการรับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ที่เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประกอบการภายในประเทศเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก อย่างไรก็ตาม สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจเวียดนามในปี 57 จะยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.4 (ช่วงคาดการณ์ 4.9-5.9) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน ในเดือน มี.ค. 57 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน
  • HSBC ประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน (HSBC Services PMI) เดือน มี.ค. 57 โดยปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 51.9 จุด จากระดับ 51.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า ผลจากการจ้างงานในภาคบริการของจีนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีดังกล่าวที่สูงกว่าระดับ 50 จุดอย่างต่อเนื่องนั้นสะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านภาคบริการของจีนยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนีดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 48.0 จุดในเดือนเดียวกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีดังกล่าวซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมภาคบริการในจีนที่เติบโตต่อเนื่องนั้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากโครงการก่อสร้างรถไฟของรัฐบาลจีนและการปรับลดอัตราภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก อันเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจจีนล่าสุดส่งสัญญาณการเติบโตในทิศทางที่ชะลอลง อาทิ ยอดค้าปลีกในเดือนม.ค. - ก.พ. 57 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนภาคการลงทุนในประเทศบ่งชี้จากการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 17.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งมูลค่าส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีหดตัวร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 57 จะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 7.3 คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนในเดือน ธ.ค. 56

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ