ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Spring Meetings)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 16, 2014 08:24 —กระทรวงการคลัง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหนึ่งในผู้ว่าการของธนาคารโลก เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Spring Meetings) ณ ธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2557 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 (89th Development Committee Meeting) ในวันที่ 12 เมษายน 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำหน้าที่เป็นผู้แทนกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Group: SEA Group) ในธนาคารโลก (ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ฟิจิ อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมาร์ มาเลเชีย เนปาล สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย) กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนนโยบายด้านการพัฒนาของธนาคารโลก อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก การส่งเสริมด้านการเงินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันนโยบายบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุมดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมหารือระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันกับคณะผู้ว่าการธนาคารโลก ในประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรของกลุ่มธนาคารโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเน้นย้ำให้ธนาคารโลกประสานงานใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รวมทั้งชื่นชมความสำเร็จในการระดมทุนของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17 เพื่อสนับสนุนพัฒนาการของประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก

2. การประชุมร่วมกลุ่มออกเสียงเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Joint Meeting of the World Bank-IMF SEA Group) ในวันที่ 10 เมษายน 2557 ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารโลกของกลุ่ม SEA Group 11 ประเทศข้างต้น และผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศของ SEA Group 13 ประเทศ (ซึ่งประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ฟิจิ อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมาร์ มาเลเชีย เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย) เพื่อรับฟังรายงาน สภาวะเศรษฐกิจและความคืบหน้า การดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญของ SEA Group ในธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อาทิ การปรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและการเงินของกลุ่มธนาคารโลก เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจ ยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก (Post-crisis) และการส่งเสริมเป้าหมายหลักของธนาคารโลกในการขจัดปัญหา ความยากจนให้เหลือเพียงร้อยละ 3 ภายในปี 2573 ร่วมกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง และการปรับมาตรการเฝ้าระวังทางการเงิน (Surveillance Measures) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้เหมาะสม กับสภาวะความผันผวนทางการเงินอันมีสาเหตุหลักมาจากการปรับลดมาตรการการเงินผ่อนคลาย (Quantitative Easing: QE) ของสหรัฐฯ และความเปราะบางของภาคการเงินยุโรป เป็นต้น

3.การเข้าร่วมเสวนาในการประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่อง Economics of Climate Change ในวันที่ 11 เมษายน 2557 มีนายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกเป็นประธาน และมีนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วม โดยที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนความคิดด้านนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ยืดหยุ่น และเตรียมพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้หารือทวิภาคีกับนางศรีมุลยานี อินดราวาติ (Mrs. Sri Mulyani Indrawati) กรรมการผู้จัดการของธนาคารโลก และนายเอเซล แวน ทรอทเซนเบอร์ก (Mr. Axel Van Trotsenburg) รองประธานธนาคารโลก เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และความร่วมมือระหว่างกันที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก (Country Partnership Framework: CPF) ฉบับใหม่ ปี 2557-2560 ที่ธนาคารโลกจะช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ (Systematic Country Diagnostic) เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ขอบคุณ ประเทศไทยในการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ หรือ International Development Association : IDA ซึ่งเป็นกองทุนของธนาคารโลกที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ประเทศยากจนเพื่อการพัฒนา

5. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีในประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจกับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (Standard Chartered Bank) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจโลก และการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงสถานการณ์ เศรษฐกิจของไทยปัจจุบันที่ถึงแม้มีการชะลอตัวบ้างจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยแต่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราเงินเฟ้อในระดับบริหารจัดการได้ อัตราว่างงานที่ต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง หนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับต่ำ และฐานะการคลังที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3681

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 28/57 13 เมษายน 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ