รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 23, 2014 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร" เสนอ 5 วาระเปลี่ยนประเทศเป็นชาติแห่งการค้า ฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ร้อยละ 5-6 ต่อปี

2. กระทรวงคมนาคมเดินหน้าเขตเศรษฐกิจชายแดนรับ AEC

3. HSBC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจจีนเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี

1. "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร" เสนอ 5 วาระเปลี่ยนประเทศเป็นชาติแห่งการค้า ฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ร้อยละ 5-6 ต่อปี
  • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยว่า หากไทยต้องการให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้เฉลี่ยปีร้อยละ 5 -6 ต่อปี โดยจะต้องเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นชาติแห่งการค้า (Trading Nation) โดยไทยจะต้องดำเนินการปรับปรุงด้านเศรษฐกิจใน 5 ด้านคือ 1. ปรับปรุงกฎระเบียบการค้าให้เสรีมากขึ้น 2. ปรับปรุงระบบภาษีและสิ่งอำนวยความสะดวก 3. เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมและขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน 4. พัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน 5. สนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศและการปรับปรุงเรื่องภาษีเงินได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากมาตรการเร่งด่วนของ คสช. ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น การเร่งเบิกจ่ายเงินจำนำข้าว การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ค้างอยู่ในปีงบประมาณ 57 และการเร่งทางบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนและการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 65.3 จุด ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการตามมาตรการที่ทาง คสช. ได้วางมาตรการไว้อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะสามารถส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 - 3.1 (ประมาณการ ณ เดือน มี.ค. 57) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ค. 57
2. กระทรวงคมนาคมเดินหน้าเขตเศรษฐกิจชายแดนรับ AEC
  • AEC ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับการอนุมัติงบประมาณในปี 2558 จำนวน 146,781 ล้านบาทได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อเชื่อมประเทศเพื่อบ้าน ที่อยู่ในแนวระเบียงเขตเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงจาก สปป.ลาว และบริเวณพื้นที่ด่านศุลการกร จ.สงขลา ซึ่งปัจจุบันมีความหนาแน่นมาก โดยในปี 58 จะเพิ่มจำนวนเป็น 50 ด่าน จากเดิม 18 ด่าน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนจะช่วยให้เกิดการส่งเสริมการค้าขาย การลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมบริการ และเกษตรกรรมระหว่างประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าการค้าชายแดนให้สูงขึ้น ประกอบกับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนค่อนข้างสูง คือประมาณร้อยละ 74 ของ GDP ในปี 56 โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน 26% จีน 11.9% ญี่ปุ่น 9.7% สำหรับสหรัฐฯและยุโรปซึ่งเคยเป็นตลาดสำคัญในอดีต ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 9.7% และ 8.8% ตามลำดับ และนับตั้งแต่ปี 46 เป็นต้นมา การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเริ่มเร่งตัวโดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.5 ต่อปี แสดงให้เห็นว่าอาเซียน เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและยังสามารถที่จะขยายตัวได้อีกหลังการรวมตัวเป็น AEC ในอนาคต ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนในปี 56 มูลค่าทั้งสิ้น 26,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 24,558 ล้านบาท
3. HSBC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจจีนเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี
          - HSBC เปิดเผยในรายงานว่า การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2 นั้น ได้สร้างความประหลาดใจเชิงบวก                   ต่อการคาดการณ์ของเราเป็นอย่างยิ่ง" อันเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า การขยายตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 57 โดยยอดลงทุนในสินทรัพย์ถาวรรายเดือนได้ขยายตัว ร้อยละ 17.9 จากร้อยละ 16.9 ในเดือน พ.ค. 57 และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.ปรับตัวขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับระดับร้อยละ 8.8 ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับการสนับสนุนด้าน นโยบายนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของประเทศจีนในไตรมาสที่ 2 ปี ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและการคลัง ซึ่งจะสนับสนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เช่น การเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐ และการลดอัตราเงินสดสำรองของสหกรณ์และธนาคารพาณิชย์ในเขตชนบท นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 12.5 ในเดือนก่อนหน้า สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 8.8 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยเฉพาะสินค้าหมวดชิ้นส่วนยานพาหนะ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลงต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาบ้าน เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้ สศค. กำหนดการเผยแพร่ข้อมูลประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในครั้งต่อไปในวันที่ 30 ก.ค.57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ