รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 24, 2014 11:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. ส.อ.ท. ลดเป้ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้ลงร้อยละ -10.46 เหลือ 2.2 ล้านคัน

2. ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ มิ.ย. 57 ฟื้นตัวเป็นเดือนที่ 2

3. FDI เกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

1. ส.อ.ท. ลดเป้ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้ลงร้อยละ -10.46 เหลือ 2.2 ล้านคัน
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้มีการปรับเป้าหมายตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ในปี 57 อยู่ที่ 2,200,000 คัน ลดลงจากเดิม 200,000 คัน และน้อยกว่าปี 56 จำนวน 257,057 คัน หรือลดลงร้อยละ -10.46% โดยยังคงยอดผลิตเพื่อส่งออกไว้เท่าเดิมที่ 1,200,000 คัน เท่ากับร้อยละ 54.54 ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1,121,303 คัน เป็นจำนวน 78,697 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.02 ส่วนเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศปรับลดลงจากเดิม 200,000 คัน เป็นผลิต 1,000,000 คัน เท่ากับร้อยละ 45.45 ของยอดผลิตทั้งหมด ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1,335,754 คัน เป็นจำนวน 335,754 คัน หรือลดลงร้อยละ 25.14
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในปี 57 มีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากฐานสูงในปีก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 39,330 คัน หรือหดตัวร้อยละ -44.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งจากฐานการคำนวณในครึ่งปีแรกของปี 2556 ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ จากการผลิตเพื่อส่งมอบตามนโยบายรถคันแรก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 40,351 คัน หรือหดตัวร้อยละ -31.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -33.6 ตามการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศเนื่องจากมีการเร่งการลงทุนไปแล้วในปีก่อน
2. ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ มิ.ย. 57 ฟื้นตัวเป็นเดือนที่ 2
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนมิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 88.4 จุด เพิ่มจากเดือนก่อนที่ระดับ 85.1 จุด นับเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจติดต่อเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีการยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ทำให้ภาพรวมของการดำเนินกิจการมีความสะดวก คล่องตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลที่ประเทศไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ที่ระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และอียูลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับไทยในการจัดอันดับบัญชีการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ จากกลุ่ม 2 ที่ต้องจับตามองมาอยู่ที่กลุ่ม 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาคการส่งออกไทยในเชิงของภาพลักษณ์สินค้า แต่จะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสินค้าที่ได้รับผลกระทบหลัก ได้แก่ สินค้ากุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เครื่องนุ่งห่ม และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ซึ่งมีสัดส่วนรวมเพียง 15.0 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมไทย(เฉลี่ยปี 52-56) ซึ่งสินค้าหมวดดังกล่าวจะได้รับผลกระทบในเชิงของภาพลักษณ์สินค้า ทางจิตวิทยาทางการตลาดของการส่งออกนำเข้าของภาคเอกชน ดังนั้น คาดว่า ผลกระทบต่อภาคการส่งออกจะลดลงน้อยกว่าร้อยละ 1.5 ต่อปี และส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลงน้อยกว่าร้อยละ 0.9 ต่อปี
3. FDI เกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่โดยมีมูลค่า 1.033 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากอุปสงค์จากจีน ฮ่องกงและไต้หวันที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมี FDI เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 3 เท่า และอยู่ที่ระดับ 2.39 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งอุปสงค์จากสหภาพยุโรปที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อุปสงค์จากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกลับลดลงร้อยละ -0.4 และ -15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณา FDI ของเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 โดยจำแนกตามภาคอุตสาหกรรมพบว่า ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมบริการสามารถขยายตัวร้อยละ 36.5 และ 23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่เมื่อจำแนกตามประเภทการลงทุนพบว่า การลงทุนผ่านทางการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) และการลงทุนในธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นการสร้างโรงงานและจ้างงานใหม่สามารถขยายตัวร้อยละ 41.5 และ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาพรวมการขยายตัวของ FDI เกาหลีใต้สอดคล้องกับทิศทางของมูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 ที่สามารถขยายตัวร้อยละ 2.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.6 รวมทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่เติบโตได้ดี โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (QoQ_SA) ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการลงทุนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ค. 57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ