รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 11:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กันยายน 2557

Summary:

1. ค้าปลีกไทยปีนี้โตร้อยละ 5.0 - 10.0

2. ยอดตั้งโรงงานใหม่ 8 เดือนร่วงร้อยละ 8.0 หวังการเมืองนิ่งดันลงทุนเพิ่ม

3. จีนเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ herek 69024

1. ค้าปลีกไทยปีนี้โตร้อยละ 5.0 - 10.0
  • นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย เปิดเผยว่า ตลาดค้าปลีกในไตรมาสที่ 3 ซึ่งมีรัฐบาลแล้ว ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นบรรยากาศการค้าคึกคักขึ้นมาก โดยภาพรวมค้าปลีกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0-10.0 เพราะว่าช่วงต้นปีมีปัญหาราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยางและปาล์ม แต่ว่าหากช่วงสุดท้ายปีนี้แก้ปัญหาได้ ก็จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจการค้าดีขึ้น ส่วนไตรมาสที่ 1-2 ปีหน้าคาดว่า จะเห็นการขยายตัวธุรกิจค้าปลีกเป็นเลข 2 หลัก เพราะว่าการเมืองเริ่มนิ่งกำลังซื้อก็จะกลับมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการค้าปลีกค้าส่งไทยถือเป็นสาขาการผลิตที่สำคัญอันดับ 2 รองจาก ภาคการผลิตสาขาอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 56 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 13.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) นอกจากนี้ ยังถือเป็นภาคที่มีกำลังแรงงานมากเป็นอันดับที่ 3 หรือคิดเป็นร้อยละ 16.1 ของจำนวนแรงงานภายในประเทศ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 GDP ภาคการค้าปลีกค้าส่งหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 จากผลของความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางดีขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 49.6 สอดคล้องกับฝั่งอุปสงค์ที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 68.5 ในเดือน ก.ค. 57 หลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว โดยหากต้องการให้ภาพรวมค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5-10 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 ภาพรวมการค้าปลีกค้าส่งต้องโตอย่างน้อยร้อยละ 10.1 - 20.1 หรือคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยไตรมาสละ 2 แสนล้านบาท
2. ยอดตั้งโรงงานใหม่ 8 เดือนร่วงร้อยละ 8.0 หวังการเมืองนิ่งดันลงทุนเพิ่ม
  • นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดการตั้งโรงงานใหม่ในเดือน ส.ค.57 มีจำนวน 328 โรงงาน ลดลงร้อยละ 23.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการลงทุน 20,330 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับขั้นตอนการออกใบอนุญาตกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จาก 90 วัน เป็น 30 วัน บางขั้นตอนผู้ประกอบการ ต้องดำเนินการด้วยตัวเอง เช่น การทำประชาพิจารณ์กับชุมชนรอบข้างสถานประกอบการ ทำให้ยอดการตั้งโรงงานใหม่ 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) 2,770 โรงงาน ลดลงร้อยละ 8.76 ขณะที่ยอดเงินลงทุนรวม 231,287 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.66
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดจัดตั้งโรงงานที่ปรับตัวลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแม้ว่าจะค่อยๆ ส่งสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 7 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ระดับ 86.4) แต่ก็ยังเป็น ค่าดัชนีฯ ที่ต่ำกว่าร้อย ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการยังคงมีระดับความเชื่อมั่นที่น้อย หรือมองอีกนัยหนึ่งคือ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่มากพอจะมีการลงทุน นอกจากนี้ การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการยังต้องพึ่งพาตลาดส่งออก และจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกรวม 7เดือนแรกปี 57 มีการหดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว อาจทำให้ผู้การประกอบการชะลอการลงทุนต่อไป
3. จีนเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • สำนักงานศุลกากรของทางการจีน รายงานว่า จีนได้เปรียบดุลการค้าในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 77.8 หรือ 49,800 ล้านดอลลาร์ โดยยอดส่งออกปีต่อปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เป็น 208,500 ล้านดอลลาร์ แต่ยอดนำเข้าลดลงร้อยละ 2.4 อยู่ที่ 158,600 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ นอกจากจีนจะได้เปรียบดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ตัวเลขได้เปรียบดุลการค้าของจีนเดือนนี้ ยังสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้อีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลการค้าของจีนในเดือน ส.ค. 57 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แม้ยอดส่งออกจะมีการขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14.5 ทั้งนี้หากพิจารณาถึงประเทศส่งออกที่สำคัญของจีนที่มีสัดส่วนที่สูงได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น ต่างก็ยังคงขยายตัวในระดับดี นอกจากนี้ การนำเข้าของจีนที่ลดลงอย่างมากเป็นผลมาจากความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดลง ส่งผลให้ความต้องการซื้อภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ดี การเกินดุลการค้าดังกล่าวอาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีนแข็งตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ