รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 20, 2014 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2557

Summary:

1. ศูนย์วิจัยฯ ทีเอ็มบี คาดจีดีพีปี 57 โตได้ไม่ถึงร้อยละ 2.0

2. ฉัตรชัยประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก ระบุ 20 ต.ค.สรุปเป้าส่งออกปี 58

3. Citigroup ชี้ราคาน้ำมันร่วงกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.1 ล้านล้านเหรียญ

1. ศูนย์วิจัยฯ ทีเอ็มบี คาดจีดีพีปี 57 โตได้ไม่ถึงร้อยละ 2.0
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 2.0 เนื่องจากมองว่า การบริโภคภายในประเทศยังมีการฟื้นไม่เต็มที่ และเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้ามายังไม่เห็นผลอย่างชัดเจนอีกทั้งภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งในปีนี้ยังประเมินการส่งออกจะหดตัวร้อยละ -0.5 ขณะที่ในปี 58 คาดว่า GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 57 เศรษฐกิจไทยหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 57 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ กอปรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยเอื้อให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยังส่งผลต่อเนื่องต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 อย่างไรก็ดี ด้านการส่งออกคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางเศรษฐกิจโลก อาทิ การลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และการเพิ่มปริมาณเงิน Q2 ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 และสศค.จะปรับผลประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 57 และ ปี 58 อีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค. 57 นี้
2. ฉัตรชัยประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก ระบุ 20 ต.ค.สรุปเป้าส่งออกปี 58
  • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการประชุมกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์การส่งออกปี 58 พร้อมประเมินสถานการณ์การส่งออกปีนี้ (57) โดยมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจในหลายประเทศยังมีปัญหาทำให้การผลักดันตัวเลขการส่งออกของไทยเป็นไปได้ยาก จากนี้ในปี 58 จะเน้น การขยายขอบเขตไปยังตลาดใหม่ อาทิ ในตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และประเทศรัสเซีย โดยยังคงรักษาตลาดเก่า และการค้าตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปถึงแนวทาง และยุทธศาสตร์การผลักดันการส่งออกในปี 58 ในวันที่ 20 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดเป้าหมายการส่งออกได้ แต่จะเร่งรัดให้การส่งออกไทยเติบโตให้มากที่สุด แม้ตามการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 58 อาจเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4-5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -1.4 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 1.1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 3.1) น้ำมันสำเร็จรูป (หดตัวร้อยละ -8.7) อัญมณีและเครื่องประดับ (ขยายตัวร้อยละ 0.3) และเม็ดพลาสติก (ขยายตัวร้อยละ 7.6) ส่วนในมิติตลาดส่งออก ประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (หดตัวร้อยละ -5.4) สหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 2.6) ญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ -1.6) มาเลเซีย (หดตัวร้อยละ -0.5) และฮ่องกง (หตตัวร้อยละ -4.9) นอกจากนี้ ตลาดส่งออกที่น่าสนใจต่อการขยายตลาดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลาง รัสเซีย อินโดจีน 4 (CLMV) ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 5.1 0.5 และ 8.3 ตามลำดับ ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 2.7 3.7 และ 8.7 ตามลำดับ ทั้งนี้สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 57 และ 58 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ ณ เดือน ก.ค. 57 โดยจะมีการปรับผลประมาณการครั้งต่อไปในวันที่ 30 ต.ค. 57 นี้
3. Citigroup ชี้ราคาน้ำมันร่วงกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.1 ล้านล้านเหรียญ
  • เอ็ด มอร์ส หัวหน้านักวิจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของ Citigroup วิเคราะห์ว่าการที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ร่วงลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 83.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี เศรษฐกิจโลกจะได้รับประโยชน์ถึงราว 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (35.6 ล้านล้านบาท) จากการที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคนอกกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะมีต้นทุนที่ลดลง ซึ่งนำไปสู่การนำส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า น้ำมันดิบที่มีผลกระทบต่อไทย คือ น้ำมันดิบจากดูไบจากประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ซึ่งมีราคาที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ Brent รวมถึง West Texas จึงมีทิศทางขาลงอย่างรุนแรงเช่นกัน หลังจากที่ปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศในลิเบีย อิรัก และยูเครน คลี่คลายลง รวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังมีการชะลอตัว โดยเฉพาะจากจีน และเยอรมัน ทำให้อุปสงค์ต่อน้ำมันขยายตัวต่ำ สศค. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะอยู่ที่ 101.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในปีหน้าที่ราคาเฉลี่ย 100.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี น้ำมันเป็นโภคภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวสูง และราคาสะท้อนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำธุรกรรมซื้อขายเข้าถึงได้ง่ายและมีผู้เล่นจำนวนมาก ทำให้แม้ราคาในระยะยาวจะอยู่ในขาลง แต่ราคาน้ำมันจะยังคงมีความผันผวนสูงและสร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ