รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2014 14:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2557

Summary:

1. ททท. คาดจำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลังขยายตัวร้อยละ 1.7

2. พาณิชย์ลุ้นหากไม่เลวร้ายถึงขั้นมีสงครามส่งออกไทยปีหน้าโตร้อยละ 4.0

3. ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดลง 5 เดือนติดต่อกัน

1. ททท. คาดจำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลังขยายตัวร้อยละ 1.7
  • ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวยังไม่ค่อยสดใสมากนัก แม้ว่ายอดจองห้องพักในแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต และ พัทยาจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะมีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปี 58 เนื่องจากเป็นปีที่เริ่มต้นแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการใหม่เต็มตัวอย่างไรก็ตาม ได้มีบทวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังของปี 2557 ของททท. ระบุว่าการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี 57 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 13.8 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 1.7 จากตลาดหลักที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ได้แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และภูมิภาคยุโรป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่กดดันให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่ค่อยสดใสมากนัก อาทิ 1. ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ในช่วงปลายปี 56 และ 2. การฟื้นตัวอย่างเปราะของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาในประเทศไทยลดลง ซึ่งจากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 57 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 17.56 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 57 ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ประกอบกับเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังอีกด้วย
2. พาณิชย์ลุ้นหากไม่เลวร้ายถึงขั้นมีสงครามส่งออกไทยปีหน้าโตร้อยละ 4.0
  • นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวถึงการส่งออกโดยรวมในปีหน้าว่าจากการประชุมทูตพาณิชย์สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประเมินว่าสถานการณ์ส่งออกปี 58 หากไม่เลวร้ายถึงขั้นมีสงคราม ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐญี่ปุ่นสหภาพยุโรป (อียู) กลับมาฟื้นตัวจะทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยปีหน้าเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ซึ่งปีนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออก จะเกินกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นโอกาสที่ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ตามที่คาดการณ์ไว้จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกปีหน้าเกินกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -1.4 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ1.1) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ3.1) น้ำมันสำเร็จรูป (หดตัวร้อยละ -8.7) อัญมณีและเครื่องประดับ (ขยายตัวร้อยละ0.3) และเม็ดพลาสติก (ขยายตัวร้อยละ7.6) ส่วนในมิติตลาดส่งออกประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่จีน (หดตัวร้อยละ -5.4) สหรัฐฯ (ขยายตัว ร้อยละ 2.6) ญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ -1.6) มาเลเซีย (หดตัวร้อยละ -0.5) และฮ่องกง (หตตัวร้อยละ -4.9) ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคการส่งออกในปี 58 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ 2) การเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 58 จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (กลุ่มประเทศ CLMV) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีการเติบโตในระดับสูง 3) แนวโน้มการอ่อนตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 4) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าส่งออกลดลงจากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ลดลง และ 5) ผลจากฐานการคำนวณที่ต่ำในปี 57
3. ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดลง 5 เดือนติดต่อกัน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยตัวเลขราคาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาพบว่าราคาอสังหาฯ ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ในภาพรวมเป็นการลดลงของราคาใน 69 จาก 70 เมืองใหญ่ (มีเพียงเมือง Xiamen ซึ่งราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า) โดยเมืองสำคัญอย่างกรุงปักกิ่งราคาบ้านใหม่ปรับลดลงร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ราคาบ้านใหม่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ปรับลดลงร้อยละ 0.9 สาเหตุหลักมาจากยอดขายบ้านในจีน 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในจีนเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี สะท้อนให้เห็นถึงขาลงของเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล ทั้งนี้ จากการที่ภาคอสังหาฯ ของจีนได้เติบโตอย่างร้อนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจในภาคดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ มากขึ้นในปัจจุบัน นั่นทำให้การชะลอตัวลงส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร บริการรับเหมา และสินค้าที่เกี่ยวกับการตกแต่งและของใช้ภายในบ้าน ในอีกด้านหนึ่ง ราคาอสังหาฯ นั้นเป็นตัวสะท้อนถึงความมั่งคั่งของครัวเรือน ดังนั้น การปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นตัวบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงของการบริโภคจากภาคเอกชนโดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ