รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 30, 2014 11:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2557

Summary:

1. สนข.เดินหน้าแผนลงทุนคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 58

2. เวิลด์แบงก์จัดอันดับความน่าลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 26

3. เกาหลีใต้ เกินดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

1. สนข.เดินหน้าแผนลงทุนคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 58
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บอกว่า สนข.เตรียมเดินหน้าแผนการลงทุนด้านคมนาคมระยะเร่งด่วน ในปี 58 หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินในโครงการรถไฟฟ้า 4 สายไปเมื่อวานนี้ ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเป็นการลงทุน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะปานกลาง - ยาว ปัจจุบัน World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 จาก 144 ประเทศ และหากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกำหนด แผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี 58 ได้แก่ ประกวดราคารถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง และเร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 4 เส้นทาง เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีการบรรจุการจัดหาเงินในโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 58 จำนวน 99.7 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนให้เศรษษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
2. เวิลด์แบงก์จัดอันดับความน่าลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 26
  • ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ประกาศผลการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประจำปี 58 ซึ่งเป็นการรายงานล่วงหน้า 1 ปี ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี . โดยผลวิจัยปรากฎว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 26 จาก 28 ในปี 57 จากทั้งหมด 189 ประเทศทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ World Bank จัดอันดับความน่าลงทุนของไทยในปี 58 อยู่ที่อันดับที่ 26 ดีขึ้น 2 อันดับ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านการขออนุญาตก่อสร้างที่สะดวกมากขึ้น รวมทั้งภาครัฐมีนโยบายจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 และการขยายนโยบายลดค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 เป็นต้น ทั้งนี้ จากสถิติการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 มีจำนวนโครงการทั้งหมด 642 โครงการ มูลค่าการลงทุนถึง 310,630 ล้านบาท
3. เกาหลีใต้ เกินดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผย ดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ก.ย. 57 ที่อยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 7.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในเดือนก.ย. 57 นับเป็นการเกินดุลติดต่อกัน 31 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาจากมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย. 57 เท่ากับ 5.098 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เท่ากับ 4.325 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายร้อยละ 4.1 ต่อปี ส่งผลทำให้ 9 เดือนแรกปี 57 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งสิ้น 6.186 หมื่นล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.504 หมื่นล้านดอลลาร์ 9 เดือนแรกปี 56) และหากพิจารณาภาพรวมพบว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี ขณะที่ IMF คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57 ว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับประมาณการณ์อีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค. 57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ