รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 20, 2014 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 87.5

2. คณะกรรมการนโยบายการเงินห่วง"เศรษฐกิจโลก-ลงทุนภาครัฐ"ปัจจัยเสี่ยงปี 58

3. BOJ คงนโยบายการเงิน หลังข้อมูลชี้เศรษฐกิจถดถอย

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 87.5
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 86.1 ในเดือนก.ย. โดยค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. 57 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน เป็นการสะท้อนถึงผู้ประกอบการธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 57 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มอุตสาหรรมแฟชั่น อาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนกส์ และโทรคมนาคม รวมถึงธุรกิจการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ดัชนี TISI ที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนต.ค. 57 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม (CCI) ในเดือน.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 ทำให้คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 57 จะปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
2. คณะกรรมการนโยบายการเงินห่วง"เศรษฐกิจโลก-ลงทุนภาครัฐ"ปัจจัยเสี่ยงปี 58
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่ง กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 10.7 ต่อปี ตามลำดับ ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ประกอบกับการนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 และ 8.0 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของ นักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6)
3. BOJ คงนโยบายการเงิน หลังข้อมูลชี้เศรษฐกิจถดถอย
  • คณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 ให้คงนโยบายการเงิน ภายหลังข้อมูลล่าสุดระบุเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะถดถอย โดย BOJ ยังคงระดับการเพิ่มฐานเงินหรือเงินสดและเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ ฝากไว้กับ BOJ ในอัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปี หรือ 6.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้โครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจของญี่ปุ่นล่าสุดแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยในไตรมาส 3 ปี 57 หดตัวลง -1.6 ต่อปี และหากเทียบเป็นรายไตรมาสพบว่า เศรษฐกิจหดตัว -0.4 ต่อไตรมาส เป็นผลทำให้ BOJ คงนโยบายการเงิน ทั้งนี้ จากภาวะของการถดถอยเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลต่อการพิจารณาแผนการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในรอบที่ 2 ในช่วงเดือน ต.ค. 58 โดย สศค.คาดการณ์ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 57 ว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ขณะที่ในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ