รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 28 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2014 13:11 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เครื่องประดับ อาหารและยานยนต์ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เนื่องจากมีการปิดเพื่อซ่อมบำรุงโรงกลั่นของบริษัท Thai Oil สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีฯ ในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีเป็นระบบดิจิตอล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นที่ขยายตัวได้ คือ อุตสาหกรรมแอร์ พัดลม และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหลังหักผลทางฤดูกาล (mom_sa) พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.8
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ 30,159 คัน หรือ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -28.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -35.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงที่ผ่านมา จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในภาคการเกษตร ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ประชาชนชะลอการบริโภคสินค้าออกไปก่อน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่ากลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -43.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ 40,691 คัน หรือหดตัวร้อยละ -13.6 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง ตามยอดขายรถกระบะ 1 ตันในเดือนต.ค.57 ที่หดตัวร้อยละ -13.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 57 มีมูลค่า 20,163.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 จากการขยายตัวดีเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร้อยละ 8.2 และ 6.1 ตามลำดับ และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดีเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.5 ในขณะที่ สินค้าเกษตรกรรม หดตัวที่ร้อยละ -2.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 รวมถึงสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -16.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.8 และปริมาณการส่งออกขยายตัวที่ ร้อยละ 4.8 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน ต.ค. 57 มีมูลค่า 20,132.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากขยายตัว ในระดับสูงในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 14.4 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -0.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 21.8 รวมถึงสินค้าทุนและสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -3.7 และ -14.6 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.6 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.4 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -1.6 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในช่วง 10 เดือนของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. 57 เกินดุล 0.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นกลม (สัดส่วนร้อยละ 11.2) ที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 และปริมาณการจำหน่ายเหล็ก เส้นข้ออ้อย (สัดส่วนร้อยละ 64.4) ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายท่อเหล็กกล้าหดตัวที่ร้อยละ -41.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนยังคงชะลอตัว
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.46 จากอุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปี โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี มาตรการดูแลค่าครองชีพของ คสช. ส่งผลให้ราคาในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารปรับตัวลดลง และทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.04 จากเดือนก่อนหน้า

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งสูงกว่าการประกาศครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงกว่าการประกาศครั้งก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 88.7 จุด ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคปรับลดคาดการณ์มุมมองเศรษฐกิจในระยะสั้นลงมาที่ระดับ 87.0 จุด จากระดับ 93.8 จุดในเดือนก่อน ราคากลางบ้าน เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาบ้านในภาคตะวันตกและแถบ Midwest ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาบ้านในภาคใต้และตะวันออกเฉียงเหนือปรับลดลง ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ 4.58 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยยอดขายบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและแถบ Midwest เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ราคาบ้านและยอดขายบ้านใหม่ที่ขยายตัว บ่งชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

Japan: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ยกเว้นราคาหมวดสินค้ากึ่งคงทนและ ค่าขนส่งโทรคมนาคมที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ระดับ -11.6 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลที่จะมีต่อสภาวะทางการเงิน การจ้างงาน และแนวโน้มการบริโภค

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยบ 0.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขเบื้องต้นผลจากการขยายตัวชะลอลงของภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง ภาคบริการ และภาคเกษตร

South Korea: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 กลับมาหดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทนที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง

Phillippines: worsening economic trend
          GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57  ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ถือเป็นการขยายตัวในระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี เนื่องจากการบริโภคภาครัฐที่กลับมาหดตัวสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูประเทศภายหลังประสบวาตภัยพายุไต้ฝุ่น ไห่เยี่ยน กอปรกับการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 57        หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรด้านคมนาคมที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -22.1 และร้อยละ -43.1   เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยสรุป การนำเข้าที่หดตัวเพิ่มขึ้นขณะที่การส่งออกขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 57 กลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรก  ในรอบ 2 เดือนที่ 281.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการนำเข้าที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกสุทธิขยายตัวเป็นบวก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าขนส่ง และราคาบ้านที่ปรับตัวลดลง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าในหมวดสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากไม้ ยาและเวชภัณฑ์ และโลหะ ที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Vietnam: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ขยายตัว ชะลอลงต่อเนื่อง และราคาสินค้าหมวดคมนาคมขนส่งที่หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากการส่งออกไปจีนที่ชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค. 57 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 57 ขาดดุล 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีจำนวนผู้ว่างงานรวม 447,000 คน ลดลง 4,000 คน จากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังถือว่าอยู่ในอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เป็นผลจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบ และปิดสูงสุดในรอบ 2 เดือน ที่ 1,599.82 จุด ณ วันที่ 20 พ.ย. 57 โดยทั้งสัปดาห์มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 56,074 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจาก นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 21 พ.ย. 57 ธนาคารกลางของจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี 4 เดือน บ่งชี้ท่าทีของนโยบายการเงินจีนที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 พ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,050.45 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ทรงตัว โดยนักลงทุนบางส่วนปรับพอร์ตเพื่อเตรียมรองรับธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรของกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 พ.ย. 57 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 พ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 182.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 27 พ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.10 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.06 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 27 พ.ย. 57 ปิดที่ 1,195.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,196.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ