รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 17, 2014 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2557

Summary:

1. หอการค้าไทยประเมินราคาน้ำมันถูกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 58

2. คาดส่งออกอาหารไทยปี 57 แตะระดับ1ล้านล้านบาทครั้งแรกในประวัติศาสตร์

3. PMI ญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

1. หอการค้าไทยประเมินราคาน้ำมันถูกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 58
  • นายอิสระ ว่องกุศลกิจประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอกาค้าแห่งประเทศไทย เผยว่าแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วง6 เดือนที่ผ่านมาจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นเนื่องจากจะทำให้ผู้ใช้น้ำมันลดรายจ่ายด้านพลังงานและมีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นในชีวิตประจำวัน หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับนี้จะช่วยประหยัดรายจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเงินนี้จะไปหมุนใช้ในระบบเศรษฐกิจได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับตัวลงลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยมีสาเหตุสำคัญจากอุปทานน้ำมันดิบของโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาคาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมาอยู่ที่เฉลี่ย 14.05 และ 4.36 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 และร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กอปรกับประเทศลิเบียผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มผ่อนคลายและอุปสงค์ยังคงเพิ่มขึ้นช้าในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว 2) สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6) จากแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐ กอปรกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะดีขึ้น นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวและนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 - 2.7) ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว
2. คาดส่งออกอาหารไทยปี 57 แตะระดับ 1 ล้านล้านบาทครั้งแรกในประวัติศาสตร์
  • ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยในการแถลงร่วมกับ 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร (ประกอบด้วย สถาบันอาหาร สภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ว่าการส่งออกอาหาร 10 เดือนแรกปี 57 มีมูลค่า 851,223 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้คาดว่าในปี 57 การส่งออกอาหารของไทยจะมีมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 15.4 ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารแตะระดับมูลค่าล้านล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การส่งออกสินค้าอาหารมีแนวโน้มดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูการส่งมอบสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูปที่ผู้นำเข้าจะเริ่มสต็อกสินค้าไว้จำหน่ายในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปลายปี 2) สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าว (+2.4%), ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+9.4%), ไก่ (+7.1%), กุ้ง (+20.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+0.7%) และเครื่องปรุงรส (+7.4%) อย่างไรก็ดี ผลผลิตน้ำตาลทรายยังคงหดตัว (-5.4%) เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านวัตถุดิบและปัญหาภัยแล้ง 3) นอกจากนี้จากการที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกอาหารในระยะต่อไป
3. PMI ญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) ของญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด และถือเป็นการคงอยู่ในในระดับสูงกว่า 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทั้งนี้ PMI เดือน ธ.ค. 57 ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยอยู่ที่ระดับ 53.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 52.7 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การที่ PMI อยู่ในระดับสูงกว่า 50.0 จุด สะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมอยู่ในสภาวะขยายตัว ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.0 ของ GDP ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 ของปี 57 ได้ 2) อย่างไรก็ตาม ล่าสุด GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชน (คิดเป็นร้อยละ 59.7 ของ GDP) ภายหลังการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ตั้งแต่เดือน เม.ย. 57 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ต้องอาศัยเวลาในการเรียกคืนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนกลับคืนมา 3) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 57 พรรครัฐบาล (พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย) ของนายชินโสะ อาเบะ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยได้รับที่นั่งในสภาฯ 317 ที่นั่ง จาก 475 ที่นั่ง ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ Abenomics เป็นหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อไป โดยนโยบายดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการภาครัฐ และการปฏิรูปโครงสร้าง เช่น การสนับสนุนให้สตรีเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และ 4) ควรติดตามการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ10 ว่าจะยังมีการดำเนินการหรือไม่ หรือเลื่อนออกไปถึงเมื่อใด ทั้งนี้ สศค. ณ เดือน ต.ค. 57 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.8 - 1.2 )

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ