รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2015 14:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ. 58 ลดลงร้อยละ -0.52

2. BBL คาดสินเชื่อปีนี้โตร้อยละ 3-5 ภายใต้ GDP โตร้อยละ 3-4

3. เกาหลีใต้เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 58 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน

1. พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ. 58 ลดลงร้อยละ -0.52
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (CPI) เดือนก.พ.58 ดัชนีอยู่ที่ 106.15 ลดลงร้อยละ -0.52 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 จาก ม.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ.58 อยู่ที่ร้อยละ -0.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเป็นการติดลบเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง รวมทั้งการปรับลดลงของอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) และ 3) จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสด เช่น ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์นม ผลไม้ และผักสดบางชนิดมีปริมาณสู่ท้องตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาในหมวดดังกล่าวปรับลดลง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 - 1.4 ลดลงจากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
2. BBL คาดสินเชื่อปีนี้โตร้อยละ 3-5 ภายใต้ GDP โตร้อยละ 3-4
  • ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL)คาดว่า ธนาคารจะมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ในระดับร้อยละ 3-5 ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ร้อยละ 3-4 จากการลงทุนของภาครัฐที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สินเชื่อในเดือน ม.ค.ที่ลดลงเป็นไปตามปกติหลังจากช่วงปีใหม่คนยังไม่มีการใช้จ่าย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มของสินเชื่อโดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 58 ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นล่าช้ากว่าที่คาด ประกอบกับค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น โดยในเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวลอลงอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งชะลอลงทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบริโภค (ขยายตัวร้อยละ 0.2 และ 6.5 ตามลำดับ) อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งหลังสินเชื่อน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในครึ่งปีแรก ตามอานิสงส์จาก การฟื้นตัวของกิจกรรมการลงทุนและใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจหลายประเภท
3. เกาหลีใต้เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 58 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 58 ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน เนื่องจากการชะลอตัวลงของตัวเลขการผลิตรถยนต์และเครื่องจักร ทั้งนี้ ผลผลิตในอุตสาหกรรมทุกประเภท รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการด้านสาธารณะ ปรับตัวลงร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 39.5 ของ GDP ปี 56 รวมทั้งมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นการลดลงของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์เครื่องจักร จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออก โดย GDP ในไตรมาส 4/57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาค การส่งออกที่ชะลอลง ส่งผลให้ทั้งปี 57 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 นอกจากนี้การส่งออกในเดือน ม.ค. 58 ก็ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.4 อย่างไรก็ดี ลงทุนภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ม.ค. 58 ที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ ร้อยละ 2.0 นอกจากนี้การฟื้นตัวของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญของเกาหลีใต้ ที่น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ