รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 13, 2015 10:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2558

Summary:

1. โตโยต้าระบุ 2 เดือนแรก ยอดขายรถยนต์ต่ำกว่าเป้า

2. อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 40.4 จุด

1. โตโยต้าระบุ 2 เดือนแรก ยอดขายรถยนต์ต่ำกว่าเป้า
  • นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทย 2 เดือนแรกของปี มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 6 หมื่นคัน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ยอดขายทั้งปี 58 ที่ 9.25 แสนคัน ทั้งนี้ โตโยต้าตั้งเป้ายอดขายของปี 58 ไว้ที่ 3.3 แสนคัน ซึ่งหากแนวโน้มตลาดยังไม่ปรับตัวดีขึ้น อาจต้องปรับลดเป้าในเดือน เม.ย. 58 นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลงต่อเนื่องหลังจากจบโครงการรถคันแรกยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน โดยอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำหลังการเร่งบริโภคในช่วงโครงการฯ ดังกล่าว ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจยังคงมีสัญญาณซบเซา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในการบริโภคสินค้าคงทนรวมถึงรถยนต์ อย่างไรก็ดี อัตราการหดตัวของยอดขายรถยนต์เริ่มน้อยลงต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 58 ยอดขายรถยนต์หดตัวร้อยละ -11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือน ธ.ค. 57 ที่หดตัวร้อยละ -28.0 ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปี 58 นี้ที่คาดว่าจะกลับมาโตที่ร้อยละ 3.9 น่าจะส่งผลบวกต่อการบริโภคโดยรวม โดย สศค. คาดว่าคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.1 ประกอบกับอัตราและโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 59 ซึ่งจะทำให้ราคารถยนต์เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ยอดขายรถยนต์เร่งขึ้นในปีนี้
  • 2. อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียเปิดเผยตัวเลขอัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของกำลังแรงงานรวม จากจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลง 15,800 ตำแหน่ง โดยคิดเป็นผู้ว่างงานจากงานประเภทไม่เต็มเวลาลดลง 18,590 ตำแหน่ง ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานจากงานประเภทเต็มเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2,790 ตำแหน่ง โดยมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ร้อยละ 65.52 ของวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน ก.พ. 58 ที่ลดลงจากเดือนก่อน บ่งชี้ภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับดัชนีผลประกอบการภาคบริการในเดือน ก.พ. 58 ที่กลับมาอยู่เหนือระดับ 50.0 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ซึ่งเป็นผลจากดัขนีย่อยด้านการจ้างงานของภาคบริการ เดือน ก.พ. 58 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปีที่ระดับ 54.6 จุด ดังนั้น ภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นจึงสอดรับการขยายตัวของภาคบริการ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลีย ด้วยสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของ GDP ปี 57 อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง สะท้อนจากดัขนีย่อยด้านการจ้างงานในดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 บ่งชี้การหดตัวของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคเหมืองแร่ที่ซบเซามากว่า 2 ปีแล้ว
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 40.4 จุด
  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่น เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 40.4 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 39.2 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยนับว่าปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนมุมมองผู้บริโภคญี่ปุ่นต่อภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวกมากขึ้นทั้งนี้ดัชนีฯ ยังคงต่ำกว่า 50 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลดีต่อต้นทุนค่าครองชีพให้ลดลง กอปรกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ในอัตราสูง ส่งผลดีต่อกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่เกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องเป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกัน ล่าสุดในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด อีกทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีการใช้จ่ายเพื่อบริโภคภาคเอกชนเป็นสัดส่วนสำคัญที่ร้อยละ 58.9 ของ GDP (ข้อมูลปี 57) ทำให้คาดว่าความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น และบรรยากาศโดยรวมทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยสนับสนุน อาทิ (1) อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ร้อยละ 0-0.1 (2) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนและภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) วงเงิน 3.5 ล้านล้านบาท และ (3) การเลื่อนแผนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปจนถึงเดือน เม.ย. 60 จะเป็นปัจจัยเอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากปีก่อน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ