รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2558 และผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประจำเดือน ก.พ. 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 20, 2015 14:29 —กระทรวงการคลัง

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดังนี้

1. รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,720,425.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 46.83 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 62,366.22 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น

หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 73,393.51 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 50,859.81 ล้านบาท
  • การออกตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารดุลเงินสด จำนวน 15,000 ล้านบาท
  • การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 2,512.04 ล้านบาท ประกอบด้วย การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 1,624.04 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 888 ล้านบาท
  • การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 10,000 ล้านบาท

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 4,569.18 ล้านบาท ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อลงทุนในโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โครงการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย สำหรับนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อเป็นค่าหัวรถจักร 20 คัน 20 ตัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 5,525.80 ล้านบาท

หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 932.31 ล้านบาท

การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนมากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มจากเดือนที่แล้วขึ้นมาเพียงเล็กน้อยและยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก

หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เท่ากับ 5,720,425.58 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,375,531.51 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 93.97 และหนี้ต่างประเทศ 344,894.07 ล้านบาท (ประมาณ 10,516.15 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.03 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และ หากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 156,935.39 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (ข้อมูล ณ 27 กุมภาพันธ์ 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.70 ของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ

โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,561,395.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.22 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 159,030.20 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.78

2. รายงานผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558
สบน. มีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงินรวม 74,058.22 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล จำนวน 71,466.22 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2,592 ล้านบาท
  • การบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 71,466.22 ล้านบาท ประกอบด้วย

ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล จำนวน 53,371.85 ล้านบาท

  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 50,859.81 โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 5 รุ่น จำนวน 49,963 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.89 ต่อปี และพันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 896.81 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อ จำนวน 1,624.04 ล้านบาท
  • การเบิกจ่ายเงินกู้ จำนวน 888 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินบาททดแทนเงินกู้จากธนาคารโลก เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 วงเงิน 2,500 ล้านบาท

การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าสำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โดยมีอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ร้อยละ 1.98489 ต่อปี

การชำระหนี้ของรัฐบาล จำนวน 8,094.37 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย โดยใช้เงินจากงบประมาณ จำนวน 6,334.05 ล้านบาท และการชำระดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,760.32 ล้านบาท โดยใช้เงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับจากธนาคารพาณิชย์ภายใต้ พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ FIDF ฯ

  • การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 2,592 ล้านบาท ประกอบด้วย

การกู้เงินในประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1,792 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คัน (20 ตัน) โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน

การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำนวน 800 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5522, 5903

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ