รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 24, 2015 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 เมษายน 2558

Summary:

1. นายกฯ หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นพ้องตั้งคณะทำงานด้านการประมง

2. ค่าเงินรูปีอินเดีย (23 เม.ย. 58) อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 เดือน

3. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1.นายกฯ หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นพ้องตั้งคณะทำงานด้านการประมง
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือทวิภาคีกับนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 22-23 เม.ย. 58 และได้เห็นพ้องในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประมงร่วมเพื่อประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและวางแนวความร่วมมือในระยะยาวต่อกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ การต่อต้านการลักลอบทำประมงเถื่อนผิดกฎหมาย (Illegal, unreported, and unregulated fishing: IUU) และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการตั้งคณะทำงานด้านประมงร่วมกับอินโดนีเซียจะเป็นการแสดงเจตน์จำนงในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพิ่มเติมจากมาตรการแก้ไขภายในประเทศ ซึ่งรวมถึง 1) การบังคับใช้ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้วในเดือน ม.ค.58 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 58 2) การออกกฎหมายลูกให้ครอบคลุมการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และ 3) การจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อชี้แจงกับสหภาพยุโรป ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความตึงเครียดจากการที่สหภาพยุโรปออกประกาศเตือนภาคประมงของไทย หรือ "ใบเหลือง" ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลแปรรูปอันดับที่ 4 ของไทย โดยในปี 57 มีมูลค่าการส่งออกรวม 24.4 พันล้านบาท หรือ 760.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลแปรรูปทั้งหมดในปี 57
2. ค่าเงินรูปีอินเดีย (23 เม.ย. 58) อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 เดือน
  • ค่าเงินรูปีอินเดีย ณ วันที่ 23 เม.ย. 58 อยู่ที่ 63.19 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอ่อนค่าลงร้อยละ 0.58 จากวันก่อนหน้า หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 1.65 จากต้นเดือน เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสกุลเงินรูปีสุทธิ 126.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (21 เม.ย.) ถือเป็นปริมาณขายสุทธิที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ 9 มี.ค. 58 และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินรูปีอินเดียที่อ่อนค่าลงมากนี้ ทำให้ราคาสินค้าส่งออกอินเดียในรูปดอลลาร์สหรัฐถูกลงโดยเปรียบเทียบ ถือเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของอินเดียให้ปรับตัว ดีขึ้น ภายหลังที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 58 หดตัวสูงถึงร้อยละ -16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในรอบกว่า 6 ปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอินเดียเป็นผู้นำเข้าสุทธิ (Net importer) การอ่อนค่าของเงินรูปีในระยะแรกอาจส่งผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ตามทฤษฎี J-curve ทั้งนี้ นาย Ashima Goyal หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านเทคนิคของธนาคารกลางอินเดีย กล่าวว่าเนื่องจากค่าเงินรูปีอินเดียแท้จริงแข็งค่าขึ้นมาก จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เงินรูปีอ่อนค่าลง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางอินเดียจะยังไม่มีมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าในขณะนี้ ทำให้เงินรูปียังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
3. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า GDP เกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) และเป็นการชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 57 ซึ่งเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นสำคัญ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 58 นี้ การส่งออกซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 50.6 ของโครงสร้างเศรษฐกิจในปี 57 ไม่ขยายตัวจากปีก่อน ดังนั้น แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไตรมาสนี้จึงมาจากการบริโภค โดยการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 50.4 ของเศรษฐกิจรวม มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Contribution) ไตรมาสนี้ที่ร้อยละ 0.8 การบริโภคภาครัฐซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 29.1 ของโครงสร้างเศรษฐกิจ มี Contribution ร้อยละ 0.5 และการลงทุนซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 15.1 ของโครงสร้างเศรษฐกิจ มี Contribution ร้อยละ 0.7 มูลค่าการส่งออกสุทธิหดตัวที่ -0.9 และสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ทั้งนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ชะลอลงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของประเทศขนาดเล็กที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเปิด (Small open economy) และพึ่งพาการส่งออก (Export-driven economy) เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก เช่นเดียวกับไทย ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนและทั่วถึง ทำให้ขาดอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออก เป็นผลให้เศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่อง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ