รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 6, 2015 14:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • วันที่ 29 เมษายน 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มี.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -13.4 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -10.6 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.0 ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงิน ขยายตัวร้อยละ 5.8
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 87.7 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน มี.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 ขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.9 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 58 เกินดุล 2,223.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                 Forecast  Previous
Apr: Cement Sale (%YOY)       0.3      0.6
  • จากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภค และโครงการก่อสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว
Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 30,140 คัน หรือ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 43,977 คัน หรือหดตัวร้อยละ -10.6 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -7.1 ต่อเดือน ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันในเดือนมี.ค.58 ยังคงหดตัวเช่นกันโดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 33,409 คัน หรือหดตัวที่ร้อยละ -18.1 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ -11.9 ต่อเดือน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อเดือน ทำให้ 3 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 58 มียอดคงค้าง 15.50 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยขยายตัวเร่งขึ้นทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และเมื่อจำแนกตามประเภทของสินเชื่อพบว่า สินเชื่อภาคธุรกิจกลับมาชะลอลงเล็กน้อยจากการหดตัวของสินเชื่อธุรกิจในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 58 มียอดคงค้าง 16.75 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากการเร่งขึ้นของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ขณะที่เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการชะลอตัวลงเล็กน้อย
  • วันที่ 29 เมษายน 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ประเมินว่าจะขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ครั้งก่อนแม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการคลังและรายได้จากการท่องเที่ยว ที่ขยายตัว แต่อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยภาคการส่งออกและ การบริโภคภายในประเทศที่ดำเนินไปอย่างเปราะบางได้ ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับไทยขาดการปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิต บวกกับความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มี.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อาหาร และเครื่องแต่งกาย เป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.6
  • การส่งออกในเดือน มี.ค. 58 มีมูลค่า 18,886.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.2 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัว ร้อยละ -6.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.5 ตามการหดตัวของยางพารา ข้าว และอาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เป็นสำคัญ และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -3.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ร้อยละ -3.3 และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวร้อยละ -1.2 อย่างไรก็ดี สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวได้ดีหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.9 รวมทั้งยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 5.8 ส่งผลให้การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 58 หดตัว ที่ร้อยละ -4.7 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.9 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.6
  • การนำเข้าในเดือน มี.ค. 58 มีมูลค่า 17,391.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -5.9 หลังจากขยายตัว ในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าทุนที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -9.1 หลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.9 และสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -33.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -36.3 ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าวัตถุดิบขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 และ 10.6 ตามลำดับ ส่งผลให้การนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -11.2 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค้าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน มี.ค. 58 เกินดุล 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.6 เนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก รวมถึงการลดลงของราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม และราคาเนื้อสัตว์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 58 เกินดุล 2,223.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุลสูงถึง 3,508.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาขาดดุลที่ 1,241.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งกลับผลประโยชน์จากการลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทย ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยเกินดุลอยู่ที่ 3,464.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงถึง 8,237.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน เม.ย. 58 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี เนื่องจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภค และโครงการก่อสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่หากพิจารณาเป็นรายไตรมาสพบว่า GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.06 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากสภาพอากาศที่หนาวจัด ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคเอกชนให้ชะลอลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวส่งผลให้ ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0 - 0.25 ต่อปี โดยตลาดคาดการณ์ว่าที่ประชุม FOMC อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวล่าช้ากว่าที่คาด ซึ่งเดิมคาดไว้ ณ เดือน มิ.ย. 58 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 95.2 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากมุมมองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตที่ปรับลดลงมาก มาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน มี.ค. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเครื่องมือด้านการขนส่ง (สัดส่วนร้อยละ 32.2 ของยอดคำสั่งซื้อรวม) กลับมาขยายตัว ยอดขายบ้านใหม่ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 481,000 หลัง หรือหดตัวร้อยละ -11.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยอดขายลดลง

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ -4.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของกรีซที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้าปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินและแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Japan: mixed signal

Fitch Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลง 1 ขั้นจากระดับ A+ สู่ระดับ A โดยคงแนวโน้มมีเสถียรภาพ (Stable) หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีแผนลดการขาดดุลการคลัง หลังจากที่ชะลอการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ระยะที่ 2 ซึ่งจากเดิมจะมีกำหนดขึ้นในเดือน ต.ค. 58 ออกไปเป็นเดือน เม.ย. 60 ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -9.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดขายสินค้าทุกหมวดในเดือนดังกล่าวที่หดตัว ผลส่วนหนึ่งจากปัจจุยฐานสูงจากการเร่งการบริโภคก่อนขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัวมากที่สุดคือ เครื่องใช้ในครัวเรือนและเชื้อเพลิง ส่วนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อน จากการผลิตเกือบทุกหมวดที่ลดลง ยกเว้นสินค้าหมวดเครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคมที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

United Kingdom: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4 ปี 57 หรือคิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

Vietnam: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 8.7 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 17.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 18.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 58 เกินดุล 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 12 ปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากร้อยละ 11.1 ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไต้หวัน หดตัวในอัตราสูง ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 มูลค่าการส่งออกขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านมูลค่านำเข้า เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -0.9 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 58 ขาดดุล 4.6 หมื่นล้านดอลล่าร์ฮ่องกง ขาดดุลเพิ่มขึ้นกว่า 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

South Korea: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -5.0 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวชะลอลงประกอบกับการผลิตสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัว

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 34.8 ของมูลค่านำเข้า) ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการส่งออกส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน มี.ค. 58 ขาดดุลลดลงมาที่ 8.1 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 30 เม.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,526.74 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่ 44,479.4 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนรายย่อยในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจาก นักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์ภาคส่งออก จากตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค. 58 ที่หดตัวต่อเนื่องที่ ร้อยละ -4.4 อีกทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้ กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 เม.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 9,059.6 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะระยะสั้นปรับลดลง 3-19 bps จากที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 58 มีมติ 5:2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ต่อเนื่องจากครั้งก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี จากการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 29 เม.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,037.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 30 เม.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.48 จากสัปดาห์ก่อน สวนทางกับค่าเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมดที่แข็งค่าขึ้นจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินหยวนทรงตัว ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 2.18 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ