รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2015 10:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. หอการค้าเผยเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดทั้งปี 58 จีดีพีโตร้อยละ 3.5

2. สบน. เผยหนี้สาธารณะเดือน มี.ค. 5.730 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.33 ต่อ GDP

3. อัตราเงินเฟ้ออังกฤษ ในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. หอการค้าเผยเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดทั้งปี 58 จีดีพีโตร้อยละ 3.5
  • ประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยหอการค้าไทยประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 58 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.5 จากเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผล และได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทยถึง 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยด้านการใช้จ่ายได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐและการส่งออกบริการ ด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาคมนาคมขนส่ง และสาขาอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2-4.2) โดยสาเหตุหลักจาก 1) การส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) การบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.3 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8-4.8) และ 9.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5-11.5) ตามลำดับ จากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 และ 3) การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยปี 58 จะยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
2. สบน. เผยหนี้สาธารณะเดือน มี.ค. 5.730 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.33 ต่อ GDP
  • นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงถึงยอดหนี้สาธารณะคงค้างของเดือนมี.ค. 58 ว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 5.730 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยคิดเป็น ร้อยละ 43.33 ของ GDP ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีการเปลี่ยนแปลงลดลง เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับวิธีการคำนวณ GDP และปรับประมาณการในปี 2558
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เสถียรภาพการคลังของไทยในปัจจุบันมีความมั่นคงมาก เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP เดือนมี.ค. 58 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ซึ่งยังมีพื้นที่การคลัง (fiscal space) เพียงพอที่จะดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในอนาคตหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ สัดส่วนของหนี้สาธารณะที่ลดลงนั้นปัจจัยหลักมาจากการปรับสูตรการคำนวณ GDP ที่ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 12.14 ล้านล้านบาทเป็น 13.15 ล้านล้านบาท ตามการเพิ่มจำนวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจาก 164 รายการ เป็น 223 รายการ
3. อัตราเงินเฟ้ออังกฤษ ในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ CPI ในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 128 หรือคิดเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตามการลดลงของราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในปี 57 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคภาคเอกชนในปี 58 นอกจากนี้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มสดใส สะท้อนจาก 1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 59.5 จุด ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ 2) มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของการส่งออกไปยังยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ และเอเชีย 3) วันที่ 11 พ.ค. 58 ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี และ 4) อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 51 ทำให้ สศค. คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกไทยไปอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของการส่งออกรวม ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ