รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2015 10:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. สถาบันยานยนต์ลดเป้าหมายยอดผลิตรถปี 58 เหลือ 2 ล้านคัน

2. พาณิชย์เผยส่งออกเดือน เม.ย.58 หดตัวร้อยละ -1.70 ขณะที่นำเข้าหดตัวร้อยละ -6.84

3. GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. สถาบันยานยนต์ลดเป้าหมายยอดผลิตรถปี 58 เหลือ 2 ล้านคัน
  • ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เผยสถาบันยานยนต์ปรับลดประมาณการการผลิตยานยนต์ปีนี้เหลือ 2 ล้านคัน จากเดิม 2.15 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อการส่งออก 1.2 ล้านคัน และจำหน่ายในประเทศ 850,000-900,000 คัน ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายใน 2-3 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2562 ไทยจะสามารถผลิตยานยนต์ได้รวม 3 ล้านคัน ซึ่งเป็นไปตามแผนการผลิตยานยนต์ที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ เนื่องจากไทยจะมีการพัฒนาเพื่อการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) รุ่นที่ 2 อีกประมาณ 1 ล้านคัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเม.ย. 58 ทั้งสิ้น 123,968 คัน ลดลงร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือนมี.ค. 58 ร้อยละ 30.4 โดยการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ณ เดือนเม.ย.58 อยู่ที่ 43,740 คัน ลดลงร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการปรับลดเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปี 58 เนื่องจาก 1) ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้รายได้ที่แท้จริงของเกษตรยังคงหดตัวส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค 2) ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 3) สถาบันการเงินเข้มงวดต่อการอนุมัติสินเชื่อจากภาวะหนี้ครัวเรือน ทั้งนี้ไตรมาส 1 ปี 58 พบว่ายอดคงค้างสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.0 และ 4)การลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
2. พาณิชย์เผยส่งออกเดือน เม.ย.58 หดตัวร้อยละ -1.70 ขณะที่นำเข้าหดตัวร้อยละ -6.84
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน เม.ย.58 อยู่ที่ 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -1.7 ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -6.84 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าเดือนเม.ย. 523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.58) มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 7.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.99 ส่วนนำเข้า 4 เดือนมูลค่า 6.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ - 6.53 ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 4 เดือนที่ 906 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกเดือนเม.ย. 58 ที่หดตัวร้อยละ -1.7 เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน จากการหดตัวของมูลค่าการส่งออกในหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยมีข้อจำกัดในการขยายตัว ได้แก่ 1) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทยในปัจจุบันที่ชะลอตัวลง 2) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังหดตัว และ 3) กำลังซื้อลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง 2.2)
3. GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ซึ่งสูงกว่าการประเมินเบื้องต้นที่ร้อยละ 1.1 ) ตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคการก่อสร้างและภาคบริการ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2 - 4 เนื่องจากคาดว่าขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. GDP สิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวในเกณฑ์ดีและมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคบริการ ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตหดตัวลง โดยหดตัวที่ร้อยละ - 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2. จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของสิงคโปร์ พบว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าต้นปี สะท้อนจาก 1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.4 ลดลงจาก 49.6 จุดในเดือนก่อนหน้า และ 2) มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 3. สศค. คาดว่า GDP สิงคโปร์ ปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากปี 57 ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ