รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 11, 2015 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2558

Summary:

1. กนง. มีมติเอกฉันท์ 7 - 0 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

2. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เชื่อ ผู้ส่งออกพอใจค่าเงินบาทอ่อนค่าร้อยละ 3 ต่อปี

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นชี้แจงอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง

1. กนง. มีมติเอกฉันท์ 7 - 0 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงการประชุม (ในวันที่ 10 มิ.ย.58) ว่า คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเติบโตต่ำ โดยเฉพาะจากภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ใน ภาวะผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัว ในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากต้นปีถึงปัจจุบัน กนง. ได้มีการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง และได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 58 จากร้อยละ 2.00 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี และ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 58 จากร้อยละ 1.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยในปัจจุบันมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการใช้จ่ายงบประมาณจากช่วง 4 เดือนแรกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ต่อปี โดยรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73.7 ขณะที่รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ต่อปีและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องโดยข้อมูลเบื้องต้นมีการขยายตัว 5 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 26.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว โดยมีความเสี่ยงด้านการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับลดลงมาก รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน้อยกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58 ว่าในปี 58 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี
2. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เชื่อ ผู้ส่งออกพอใจค่าเงินบาทอ่อนค่าร้อยละ 3 ต่อปี
  • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึง ค่าเงินบาทว่า ขณะนี้อ่อนค่าลงจาก 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ 3 ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าพอใจ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศตามกลไกตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทไทย ณ วันที่ 10 มิ.ย. 58 อยู่ที่ 33.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปีที่ 32.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นการอ่อนค่าที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่ลดลงเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและของไทยที่ช้ากว่าที่คาดและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งล่าสุด ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำสุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยเพราะเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดต่างประเทศ และอาจจะส่งผลให้การส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมาหลายเดือนปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 32.10 - 34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จากปัจจัยหลัก คือ เงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าจะไหลออกตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงาน (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58)
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นชี้แจงอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องและเป็นอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (QQE) ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. 56 ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนในเดือน เม.ย. 56 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.7 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในเดือน มิ.ย. 58 เฉลี่ยอยู่ที่ 124.4 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลดถึงร้อยละ 21.5 ต่อปี ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการ QQE ของญี่ปุ่นยังคงไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ที่ให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี จึงทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องดำเนินมาตรการ QQE ต่อไป ซึ่ง สศค. จะติดตามการดำเนินมาตรการดังกล่าวของญี่ปุ่นต่อไปอย่างใกล้ชิด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ