รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2015 12:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2558

Summary:

1.พาณิชย์เผยส่งออกข้าว5เดือนปริมาณลดร้อยละ 1.4,มูลค่าส่งออกลดร้อยละ 2.7

2.สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยตัวเลขการจ้างงานรวมเดือน พ.ค.58 ลดลง

3. ญี่ปุ่นเผยยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี

1.พาณิชย์เผยส่งออกข้าว5เดือนปริมาณลดร้อยละ 1.4,มูลค่าส่งออกลดร้อยละ 2.7
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 มีปริมาณ 3.77 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 61,360 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 1.4 และมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ ราคาเอฟโอบี ในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 385 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ ราคาข้าวขาวเวียดนามอยู่ที่ 355 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งมีราคาถูกกว่าข้าวขาวไทย อาจจะเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกข้าวของไทยที่มีราคาสูงกว่า และอาจจะทำให้ไทยตกที่นั่งลำบากในการส่งออกข้าว อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้ โดยในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ไนจีเรีย มีการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 111.3 ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 274.7 และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ซึ่งจะเป็นโอกาสดีในการระบายปริมาณข้าวในสต็อก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวเปลือกไทย 5 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -30.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสภาวะปัญหาภัยแล้ง ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 57 พบว่าประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ อินเดีย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกข้าว 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.1 ของการส่งออกข้าว ทั้งหมดของโลก ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 2 มูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.1 ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์การส่งออกของไทย ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
2. สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยตัวเลขการจ้างงานรวมเดือน พ.ค.58 ลดลง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในเดือน พ.ค. 58 พบว่าผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงานอยู่ที่ 38.27 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.57 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.55 แสนคนและผู้ที่รอรอฤดูกาล 3.48 แสนคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมของตลาดแรงงานไทยในปี 58 พบว่าการจ้างงานรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันค่อนข้างทรงตัว ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขการจ้างงานในเดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 37.57 ล้านคน พบว่าหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดย สาเหตุหลักมาจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.1 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมพบว่า ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.7 โดยสาขาที่การจ้างงานเพื่มขึ้นมาจากสาขาการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยมีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.9 แสนคน นอกจากนี้ การจ้างงาน ในภาคบริการอื่นที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สาขาการขายส่งการขายปลีก สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขากิจกรรมทางการเงิน เป็นต้น สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7-0.9 ของกำลังแรงงานรวม)
3. ญี่ปุ่นเผยยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี
  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. ปรับตัวเพื่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากร่วงลงในช่วงกลางปี 57 อันเนื่องมาจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภค นอกจากนี้ยอดขายของผู้ค้าปลีกรายใหญ่ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกที่มีการขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. - พ.ค. 58 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41.8 จุด อีกทั้ง อุปสงค์จากต่างประเทศ ก็ยังสามารถขยายตัวได้ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ เสถียรภาพก็ยังคงอยู่ในระดับดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดคมนาคมขนส่งที่ยังคงปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งอัตราว่างงาน ในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ภาระหนี้สินของรัฐบาลยังคงเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับกว่า 1 พันล้านล้านเยน ในปีงบประมาณ 57 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 216 ของ GDP ถือเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลมีข้อจำกัดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ