รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2015 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจ เดือน มิ.ย. 58 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

2. นายกฯ อินเดียประกาศเร่งเดินหน้าสร้างทางหลวงเชื่อม อินเดีย-เมียนมาร์-ไทย

3. มูลค่าส่งออกออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 58 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 63.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.0 จุด โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ผลจากสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังคงไม่ฟื้นตัว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคในประเทศเดือน พ.ค. 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดขายรถยนต์นั่งเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ กำลังซื้อของประชาชนมีแนวโน้มปรับลดลง สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปัจจัยราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มตกต่ำต่อเนื่อง และภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง อีกทั้งมูลค่าส่งออกเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกลดลง ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง
2. นายกฯ อินเดียประกาศเร่งเดินหน้าสร้างทางหลวงเชื่อม อินเดีย-เมียนมาร์-ไทย
  • นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกาศเร่งเดินหน้าโครงการสร้างทางหลวงเชื่อม อินเดีย-เมียมาร์-ไทย ระยะทาง 3,200 กิโลเมตร โดยตัดผ่านนครมันฑะเลย์ กรุงเนปิดอว์ และนครย่างกุ้งของเมียนมาร์ และเข้าไทยทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจอินเดียเข้ากับอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "Act East" ของรัฐบาลโมดี โดยคาดว่าทางหลวงดังกล่าวจะเริ่มใช้ได้บางส่วนในปี 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงของอินเดียเปรียบเสมือน "สะพานเศรษฐกิจ" ที่เชื่อมอินเดียเข้ากับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเดินทางที่สะดวกมากขึ้นจะช่วยให้การค้าข้ามชายแดนระหว่าง ไทย พม่า และอินเดียขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ไทยเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อการค้าจากอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ไปยังลาว เวียดนาม กัมพูชา ตลอดจนการส่งออกผ่านทางอ่าวไทยและทะเลจีนใต้อีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 57 การค้าระหว่างไทย-อินเดีย มีมูลค่ารวม 8,655 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอินเดีย 5,615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย 3,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
3. มูลค่าส่งออกออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13
  • สำนักสถิติแห่งชาติของออสเตรเลียประกาศมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 โดยหดตัวร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยหดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 ขาดดุล 748 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของออสเตรเลียที่หดตัวต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการส่งออกโลหะไปจีนที่หดตัวต่อเนื่องมา 13 เดือน โดยล่าสุดเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากปัจจัยทั้งด้านราคาและปริมาณ กล่าวคือ ราคาโลหะในตลาดโลกที่ตกต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากโลหะเป็นสินค้าส่งออกหลักของออสเตรเลีย มูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.0 ของการส่งออกรวมของออสเตรเลีย จึงส่งผลให้ราคาส่งออกของออสเตรเลียลดลงไปด้วย อีกทั้งอุปสงค์จากจีนต่อสินค้าส่งออกออสเตรเลียชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจจีน โดยจีนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.0 ของการส่งออกออสเตรเลียรวม ดังนั้น อุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกของออสเตรเลียให้หดตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ นอกจากการส่งออกไปยังจีนที่หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือนแล้ว การส่งออกไปยังญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักอันดับที่ 2 (สัดส่วนร้อยละ 18.0 ของการส่งออกรวม) ยังหดตัวถึงร้อยละ -23.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกของออสเตรเลียทั้งสิ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ