รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2015 13:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2558

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เผย CPI เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.05

2. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือหั่นเป้าส่งออกปีนี้ร้อยละ -4.2

3. ดัชนี PMI จีนเดือนก.ค.สะดุดลงผิดคาด

1. กระทรวงพาณิชย์เผย CPI เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.05
  • นายสมเกียรติ ศรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ในเดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 106.57 ลดลงร้อยละ -1.05 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.57 โดยยังเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 58 ลดลงร้อยละ -0.07 ส่งผลให้ CPI ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.58) ลดลงร้อยละ -0.85
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -1.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น เป็นการหดตัวของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับลดลงเนื่องจากมีอุปทานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 58 ตามราคาน้ำมันที่ลดลงอีกด้วย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้ CPI ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -0.85 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมผลกระทบของราคาพลังงาน และอาหารสด ในเดือน ก.ค. 58 ขยายตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.9 และเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ -0.6 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.1 ถึง -0.1 (คาดการณ์ ณ 28 ก.ค. 58) จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า
2. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือหั่นเป้าส่งออกปีนี้เหลือร้อยละ -4.2
  • นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าภาคเอกชนได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกในปีนี้ลงเป็นติดลบร้อยละ -4.2 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมประมาณ 218,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ประเมินว่า จะติดลบร้อยละ 2.0 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดหลักและตลาดที่สำคัญของไทยติดลบเกือบทุกตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังชะลอตัว และการย้ายฐาน การผลิตในบางสินค้าอุตสากรรม ประกอบกับการที่สหรัฐฯ คงอันดับการค้ามนุษย์ของไทยไว้ที่ระดับ Teir 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการแข่งขันของสินค้าไทยให้ลดลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 พบว่ามูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 106,855.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเป็นการหดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการ หดตัวในทุกหมวดสินค้าหลัก ทั้งสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -24.21 -7.66 -3.41 และ -3.29 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณามิติด้านตลาดพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 หดตัวเกือบทุกตลาดหลักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอาเซียน (5) ที่หดตัวร้อยละ -7.0 -6.6 -6.2 และ -10.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 58 จะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 (คาดการณ์ ณ วันที่ 28 ก.ค. 58)
3. ดัชนี PMI จีนเดือนก.ค.สะดุดลงผิดคาด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคการผลิต (PMI) ของเดือน ก.ค. 58 ซึ่งคำนวณโดยหน่วยงานรัฐ ยืนอยู่ที่ 50.0 เทียบกับ 50.2 ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ตัวเลขของดัชนีที่สูงกว่า 50 ถือว่ามีการขยายตัวจากเดือนก่อน แต่ถ้าต่ำกว่า 50 ก็ถือว่าหดตัว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จาก GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับเป้าหมายสำหรับปี 58 ที่ทางการจีนตั้งไว้ร้อยละ 7.0 ซึ่งหากพิจารณาจากเครื่องชี้ด้านการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดค้าปลีกล่าสุดในเดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 4 เดือน ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยังคงเอื้อต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 4 เดือน สะท้อนถึงภาคการผลิตของจีนที่เริ่มส่งสัญญาณต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุดในเดือน ก.ค. 58 จะปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 50 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ