รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5 - 9 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2015 15:55 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 61.2
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย. 58 มีจำนวน 152,868 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.7
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 58 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ 2.23 ล้านล้านบาท
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราว่างงานของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 58 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมของยูโรโซนเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 53.6 ขณะที่ ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 52.0 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของญี่ปุ่นเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของอินเดีย เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด
  • อัตราเงินเฟ้อของไต้หวัน เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของฮ่องกง เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 45.7 จุด

Indicator next week

Indicators              Forecast  Previous
Sep : Cement Sale (%YOY)   2.9      -0.6
  • เนื่องจากภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยภาพรวมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น
Economic Indicator: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 61.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 61.5 ลดลงต่ำสุด ในรอบ 16 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน จากความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบจากภาคการส่งออกที่ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าทางการเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 อยู่ที่ระดับ 65.0 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 57 ที่ผ่านมา แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความกังวลใจของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย. 58 มีจำนวน 152,868 คัน คิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว โดยปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงขยายตัวได้ ที่ร้อยละ 0.3 ขณะที่ ในเขตภูมิภาค ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.0 จากรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปี 58 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -10.6 และ 9 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ก.ย.) หดตัวร้อยละ -1.0
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ส.ค. 58 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ 2.23 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับเงินรับฝากที่ลดลง โดยสภาพคล่องส่วนเกินที่ลดลงเป็นผลจากการลดลงของการถือหลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันและการฝากเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่มีการสำรองเงินสดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้สินทรัพย์สภาพคล่องสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 5.51 แสนล้านบาท ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน คิดเป็น 3.0 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
Economic Indicator: This Week
  • การจ้างงานเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 38.3 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล ในขณะที่การจ้างงานภาคบริการยังคงขยายตัวได้ดี จากสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า และสาขาบริหารราชการ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 17 วันแรกของเดือน ก.ย. ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.0 แสนคน
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน ก.ย. 58 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี เนื่องจากภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้น 142 พันตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากภาคบริการสุขภาพและสารสนเทศโดยอัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 58 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 7 ปี 5 เดือน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 56.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนจากคำสั่งซื้อใหม่ สินค้าคงคลัง และกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลง สะท้อนว่าภาคบริการที่ยังคงขยายตัวในอัตราชะลอลงดุลการค้า เดือน ส.ค. 58 ขาดดุลลดลงมาที่ 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากมูลค่าส่งออกที่หดตัวสูงร้อยละ -10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน จากสินค้าเพื่อการผลิตอุตสาหกรรม ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวลดลงมาที่ร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 53.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ 54.3 จุด อย่างไรก็ดี จัดอยู่ในระดับสูงและอยู่ในระดับที่มีการขยายตัว สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของยูโรโซน โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 52.0 จุด ลดลงจาก 52.3 จุดขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 53.7 จุด ลดลงจาก 54.4 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.03 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากการชะลอลงของสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารและเชื้อเพลิงเป็นหลัก

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด ลดลงจาก 53.7 จุดในเดือนก่อน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังเกินกว่า 50 จุดต่อเนื่อง

United Kingdom: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเร่งขึ้นของการผลิตสินค้าในหมวดพลังงาน ขณะที่การผลิตในหมวดอื่นหดตัว เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 58 ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คงตัวในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมากว่า 6 ปี

India: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ลดลงจากระดับ 52.6 จุด ในเดือนก่อน โดยยังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนภาพภาคบริการที่ยังคงขยายตัวได้

Taiwan: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราสูง ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -14.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ -16.7 ในเดือนก่อน โดยคิดเป็นการหดตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 ปี มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออกจึงทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 58 เกินดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 45.7 จุด สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยธุรกิจใหม่จากจีนปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 51

Philippines: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาที่อยู่อาศัยที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 มูลค่าส่งออกเดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่หดตัว

Australia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 อย่างไรก็ตาม เป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลงกว่า เดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องในหมวดแร่โลหะ เชื้อเพลิง และสินค้าที่ผลิตในท่าเรือ มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเร่งขึ้นของการนำเข้าสินค้าในหมวดอุปโภคบริโภค ส่งผลให้ดุลการค้า ขาดดุล1,807 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อนโดยการส่งออกไปยังตลาดในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากค่าเงินริงกิตที่อ่อนค่าลงมากในระยะนี้ ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าหมวดอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าภาคการผลิตที่หดตัว ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนเดียวกันเกินดุลมูลค่า 1 หมื่นล้านริงกิต

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งเป็นไปตามตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคโดยดัชนีฯ ณ 9 ต.ค. 58 ปิดที่ระดับ 1,392.15 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์ 44,332.3 ล้านบาท โดยเป็นการกลับเข้าซื้อของบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนชาวต่างชาติ หลังจากนาย Ben Bernanke อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวว่า Fed ไม่ควรรีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจาก ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน และหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 5 - 8 ต.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,834.4 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัว35.8 ลดลงตลอดทุกช่วงอายุ 1-14 bps ซึ่งเป็น35.6 แรงซื้อของนักลงทุนชาวต่างชาติ จากความเชื่อมั่น ภายหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงขนาดมาตรการ Quantitative and Qualitative Easing (QQE) ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปีต่อไปทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 5 - 8 ต.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,949.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 8 ต.ค 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.12 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคทั้งหมด โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัวโดยอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.004 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ