รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2016 11:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. กกร. ชี้เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

2. EIA คาดผลผลิตจากผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ในสหรัฐลดลงในเดือนมี.ค.59

3. ขุนคลังญี่ปุ่นชี้เงินเยนผันผวนหนัก พร้อมประกาศจับตาความเคลื่อนไหวใกล้ชิด

1. กกร. ชี้เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยปี 59 ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจกดดันการฟื้นตัวของภาคส่งออก ราคาสินค้าเกษตร ภัยแล้งที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยยังต้องติดตามการเร่งรัดการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจเห็นผลได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น จากมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ประกอบกับโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคมขนส่งและกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ประกาศออกมาในช่วงต้นปี 59 ก็จะทำให้เกิดแรงส่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องต่อไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ อันได้แก่ ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นความท้าทายสำคัญในปี 59 นี้ จับตา: เศรษฐกิจโลกไตรมาสแรกปี 59
2. EIA คาดผลผลิตจากผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ในสหรัฐลดลงในเดือนมี.ค.59
  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่า ผลผลิตของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) รายใหญ่ 7 แห่งในสหรัฐ จะลดลง 92,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนมี.ค.59 จากระดับของเดือนก.พ.59 ผลผลิตจากบริษัทอีเกิลฟอร์ด ในเซาท์เท็กซัส คาดว่าจะร่วงลงกว่า 50,000 บาร์เรล/วันในเดือนมี.ค. ในขณะที่ผลผลิตจากบริษัทแบคเคน ซึ่งผลิตครอบคลุมพื้นที่จากแคนาดาจนถึงรัฐนอร์ทดาโกตาและมอนทานา คาดว่าจะลดลง 25,000 บาร์เรล/วัน ทั้งนี้ ตลาดน้ำมันยังคงอยู่ในภาวะผันผวน อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นช่วงขาลงต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุปทานน้ำมันดิบโดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ประกอบกับ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ได้มีการตรึงกำลังเพดานการผลิต ส่งผลให้เกิดอุปทานล้นตลาด ขณะที่อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 58 เฉลี่ยอยู่ที่ 51.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หดตัวร้อยละ -46.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับภาพรวมราคาน้ำมันในปี 59 จะยังคงมีทิศทางปรับตัวลดลงตามสภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversuppplies) ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในปี 59 อย่างไรก็ดี สภาวะอุปทานส่วนเกินจะไม่รุนแรงเท่ากับปี 58 จากการผลิตที่มีแนวโน้มชะลอตัว สำหรับอุปสงค์การบริโภคน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 59 จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -32.2 เมื่อเทียบกับปี 58 ที่หดตัว -46.6 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงไตรมาสแรกปี 59
3. ขุนคลังญี่ปุ่นชี้เงินเยนผันผวนหนัก พร้อมประกาศจับตาความเคลื่อนไหวใกล้ชิด
  • นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นกล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวอย่างผันผวนและรัฐบาลจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหลังจากที่ดอลลาร์ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 115 เยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ตามทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ต่างกันของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีแนวโน้มดำเนินโยบายเข้มงวดขึ้นโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะขยายมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม อีกทั้งธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจปรับลดค่าเงินหยวนลงอีก ประกอบกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งได้ประกาศดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ร้อยละ -0.1 เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และต้องการอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเป้าหมายร้อยละ 2.0 อาจมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมอีกในอนาคตเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินไม่สอดคล้องกันของประเทศเศรษฐกิจสำคัญได้ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความผันผวนอย่างมาก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ โดยเศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทย ในปี 2559 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: ทิศทางการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจสำคัญในไตรมาสแรกปี 2559

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ