รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 - 24 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2016 11:51 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การส่งออกในเดือน พ.ค. 59 มีมูลค่า 17,616.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.4
  • การนำเข้าในเดือน พ.ค. 59 มีมูลค่า 16,079.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่ร้อยละ 0.5
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 86.4
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 59 กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.4
  • การลงประชามติเพื่อตัดสินใจว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นสมาชิก EU ต่อไปหรือไม่ โดยผลแสดงว่า เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.9 (17.4 ล้านคะแนน) บ่งชี้ว่าต้องการให้ UK ออกจากการเป็นสมาชิก EU ("Brexit")
  • ตลาดบ้านมือสองของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 526,000 หลัง
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.
  • อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -1.6

Indicator next week

Indicators                Forecast    Previous
June :  Inflation (%YOY)    0.4         0.5
  • ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากปัญหาภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าจำพวกอาหารสด ผัก ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปปรับตัวลดลงมา นอกจากนี้ คาดว่าราคาไฟฟ้าจะมีการปรับลดลง จากการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติหรือ ft ในรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 59 อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันขายปลีกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวลดลงมากนัก
Economic Indicators: This Week

การส่งออกในเดือน พ.ค. 59 มีมูลค่า 17,616.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.0 จากการกลับมาหดตัวในระดับสูงของหมวดสินค้าเกษตรที่ร้อยละ -12.9 ตามการหดตัวของข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังเป็นสำคัญ กอปรกับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.8 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สินค้าหมวดเชื้อเพลิงยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ร้อยละ -31.6 อย่างไรก็ตาม สินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้ายานยนต์กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 7.4 และ 4.5 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -1.9

การนำเข้าในเดือน พ.ค. 59 มีมูลค่า 16,079.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.9 ตามการขยายตัวในระดับสูงของหมวดสินค้ายานยนต์ที่ร้อยละ 22.8 รวมถึงหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 2.4 และ 7.9 ตามลำดับ ในขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุนยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.4 และ -4.9 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -10.2 ทั้งนี้ จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้า ในเดือน พ.ค. 59 เกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 86.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.0 โดยมีปัจจัยที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลต่อปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ประกอบกับเป็นช่วงที่เปิดภาคเรียนส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของภาครัฐ เกิดการผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรม จากปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้น

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 59 กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวได้ในหมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ 4.7) และหมวดประมง (ร้อยละ 3.0) เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด และมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดพืชผลสำคัญหดตัวชะลอลง (ร้อยละ -1.5) โดยผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญที่ขยายตัวได้ ได้แก่ กลุ่มไม้ผล ข้าวโพด มันสำปะหลังเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นผลทางฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมันยังคงหดตัวจากผลของปัญหาภัยแล้งแต่มีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางพาราหดตัวเร่งขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงผลัดใบ ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 59 หดตัวร้อยละ -4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 สะท้อนการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตร หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยราคาสามารถขยายตัวได้ในเกือบทุกสินค้าเกษตรสำคัญ ยกเว้น มันสำปะหลัง และข้าวโพดที่ราคาปรับลดลงเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 4.7

Economic Indicator: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ 0.4 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากปัญหาภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าจำพวกอาหารสด ผัก ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปปรับตัวลดลงมา นอกจากนี้ คาดว่าราคาไฟฟ้าจะมีการปรับลดลง จากการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติหรือ ft ในรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 59 อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันขายปลีกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวลดลงมากนัก

Global Economic Indicators: This Week

USซ improving economic trend

ตลาดบ้านมือสองปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 526,000 หลัง สูงสุดในรอบ 10 เดือน จากทั้งยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่เพิ่มขึ้นมาก และราคากลางบ้านมือสองอยู่ที่ 239,700 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากราคาบ้านเดี่ยวที่ปรับเพิ่มขึ้น

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังทุกตลาดที่หดตัว อาทิ กลุ่มประเทศในอาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐฯ ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดภาคการผลิต เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าที่หดตัวในระดับสูง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 59 ขาดดุลมูลค่า -40.7 พันล้านเยน นับเป็นการขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

United Kindom: worsening economic trend

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 มีการลงประชามติเพื่อตัดสินใจว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นสมาชิก EU ต่อไปหรือไม่ โดยผลแสดงว่า เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 51.9 (17.4 ล้านคะแนน) บ่งชี้ว่าต้องการให้ UK ออกจากการเป็นสมาชิก EU ("Brexit") ในขณะที่คะแนนเสียงที่ต้องการให้ UK ยังคงอยู่เป็นสมาชิก EU หรือ "Bremain" มีเพียงร้อยละ 48.1 (16.1 ล้านคะแนน) ซึ่งเป็นคะแนนที่ใกล้เคียงกันมาก โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 72.2 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 46.5 ล้านคน ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 31 ปี มาอยู่ที่ 1.3240 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ โดยอังกฤษและเวลส์มีมติให้ออกจากมหภาพยุโรปร้อยละ 53.2 และ 51.7 ตามลำดับ ขณะที่สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือมีมติร้อยละ 62.0 และ 55.7 ให้อยู่สหภาพยุโรปต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ต.ค. 59 เป็นต้นไป

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ -0.5 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาค่าเช่าและสาธารณูปโภค ค่าขนส่ง ที่ลดลลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -6.4 และ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.9 ในเดือนก่อนและคิดเป็นการชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ประกอบกับราคาสินค้าหมวดสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า แก๊ส และน้ำประปาที่ปรับตัวลดลงจนกลายเป็นหดตัวที่ร้อยละ -0.5 ในเดือนนี้

Philippines: mixed signal

มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน โดยมูลค่านำเข้าที่ขยายตัวสูง ขณะที่มูลค่าส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 59 ขาดดุลมากขึ้นอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในด้านนโยบายการเงิน นับตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 59 เป็นต้นมา ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือซื้อคืนพันธบัตรข้ามคืน (Overnight borrowing or reverse repurchase rate) ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี มาเป็นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรข้ามคืน (Overnight reverse repurchase rate) ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี

China: improving economic trend

ราคาบ้าน เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อนหน้า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่เริ่มขยายตัวชะลอลง ในขณะที่ในเมืองรองเริ่มเร่งขึ้น สะท้อนว่ามาตรการชะลอความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ เช่นการเพิ่มเงื่อนไขวงเงินดาวน์และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติเริ่มส่งผล

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ผันผวน โดย ณ 23 มิ.ย. 59 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,436.40 จุด โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 45,114.61 ล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้ดัชนีฯ ผันผวนตามผลสำรวจของหลายหน่วยงานที่ออกมาก่อนหน้า ทั้งนี้ แนวโน้มผลการนับคะแนนที่สนับสนุนให้ออกมากกว่า ส่งผลให้ดัชนีฯ วันที่ 24 มิ.ย. 59 ปิดตลาดช่วงเช้าที่ 1,396.81 จุด ลดลงร้อยละ -2.76 จากวันก่อนหน้า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 23 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,207.4 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทรงตัว โดยเปลี่ยนแปลงอยู่ใน (-1) - (+4) bps โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 59 ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด โดยการประมูลพันธบัตรรุ่น Benchmark อายุ 50 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.24 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 23 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,476.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาททรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 23 มิ.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 35.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่เงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นเยน เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงร้อยละ 1.10 ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินภูมิภาค ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.66 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ