รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2016 13:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. สศอ. แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.6

2. หนี้ภาคครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 59 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 81.1 ต่อ GDP

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรลดต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่อง Brexit

1. สศอ. แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.6
  • นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 111.51 จุด คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีอัตราการใช้กำลัง การผลิตเพิ่มขึ้นที่ 67.5 จุด เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมหลักเริ่มขยายตัวดีขึ้น อาทิเช่นรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือนดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงสัญญาณกิจกรรมภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวดี โดยมีการขยายตัวของ การผลิตในหมวดยานยนต์เนื่องจากการเปิดตัวรถปิคอัพรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนอง ความต้องการภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในหมวดเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศในฤดูร้อน ที่ร้อนจัด ในหมวดผลิตภัณฑ์ยางได้รับอานิสงส์จากภาครัฐที่มีมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าดัชนีฯ ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทยในปี 59 นี้
2. หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 59 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 81.1 ต่อ GDP
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน โดย ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ยอดคงค้างหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 11.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.1 ต่อ GDP ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 81.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเมื่อคิดเป็นอัตราการขยายตัวหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบหลายปี โดยการลดลงของหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP เป็นผลมาจาก การขยายตัวที่ชะลอลงของสินเชื่อหลายประเภท อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ซึ่งได้ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ร้อยละ 5.6 และ ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.2 ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 27.9 และร้อยละ 14.8 ของหนี้ครัวเรือนรวม ตามลำดับ และหากพิจารณาตามสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อพบว่าโดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 42.9 เป็นสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ และกว่า ร้อยละ 29.3 เป็นสินเชื่อในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคุณภาพสินเชื่อแล้วยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับต่ำเพียงร้อยละ 3.3 ของสินเชื่อรวม
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรลดต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่อง Brexit
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (จัดทำโดย GfK) เดือน พ.ค. 59 ของสหราชอาณาจักร อยู่ที่ -1.0 จุด โดยอยู่ในแดนลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จาก -3.0 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย YouGov ในเดือนเดียวกันซึ่งอยู่ที่ระดับ 104.3 จุด ลดลงจากระดับ 111.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อ การลงประชามติของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ช่วงก่อนวันลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. 59 และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ลดต่ำลงต่อเนื่องหลังผลการลงประชามติออกมาว่า สหราชอาณาจักรต้องการออกจาก EU โดยหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ประเด็นที่ก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้บริโภคมากที่สุดคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมในช่วงอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีฯ หมวดย่อยนี้อยู่ที่ -13.0 ติดลบต่อเนื่องจากเดือนก่อน นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาไม่น้อยไปกว่ากัน โดยดัชนีฯ หมวดย่อยนี้อยู่ที่ -13.0 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินของตนเองทั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาและในช่วงอีก 12 เดือนข้างหน้า และความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้ส่อยสินค้าที่มีราคาในเดือน พ.ค. 59 ได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ในขณะที่สหราชอาณาจักรยังคงขาดแผนดำเนินการในการออกจาก EU ในระยะต่อไปที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงมีความเปราะบางต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนของสหราชอาณาจักรได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ